นับตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 การส่งออกอาหารสัตว์ของไทยเติบโตได้อย่างโดดเด่น โดยในปี 2564 มูลค่าส่งออกอาหารสัตว์ของไทยมีมูลค่าถึง 2.45 พันล้านดอลลาร์สรอ. เป็นอันดับ 6 ของโลก โดยในปี 2562-2564 มีอัตราการเติบโตในระดับสูงถึง 21.1%CAGR และเป็นการเติบโตดีกว่าผู้ส่งออกอาหารสัตว์รายใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลกอย่างเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีอัตราการเติบโตของการส่งออกอยู่ที่ 18.5%CAGR และ 13.7%CAGR ตามลำดับ เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบจากการได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าในตลาดอาเซียน และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาหารสัตว์เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการผลิตในห่วงโซ่การผลิตสินค้าปศุสัตว์ ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับต้นๆ ในภาคเกษตรและอาหาร ทำให้หลายฝ่ายหันมาให้ความสนใจกับการผลิตอาหารสัตว์ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น เช่น ในการประชุม Cop27 ที่นอกจากจะมีวาระพูดถึงการลดก๊าซเรือนกระจกในระบบการผลิตอาหารสำหรับมนุษย์แล้ว ยังมีการให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารสัตว์ที่ช่วยสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์ด้วย ดังนั้น ในบทความนี้ Krungthai COMPASS จึงนำเสนอเรื่อง Insect Feed ซึ่งเป็นหนึ่งทางเลือกในเทรนด์อาหารสัตว์ที่น่าสนใจที่จะช่วยผู้ประกอบการรับมือกับความท้าทายจากกระแสลดโลกร้อนดังกล่าว
กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในสัดส่วนที่สูงแค่ไหน?
การผลิตอาหารสัตว์เป็นกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูงที่สุดในห่วงโซ่การผลิตปศุสัตว์ โดยจากข้อมูลของ Our world in data ระบุว่า ภาคปศุสัตว์เป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก และจากข้อมูลของ The Farm Animal Investment Risk and Return (FAIRR) และ Food and Agriculture Organization of United Nations (FAO) ชี้ว่า กิจกรรมการผลิตอาหารสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 45% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดตลอดห่วงโซ่การผลิตปศุสัตว์ (รูปที่ 1) เนื่องจากในกระบวนการผลิตต้องมีการบุกรุกทำลายป่า หรือแผ้วถางป่า เพื่อปรับเปลี่ยนมาเพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งในกระบวนการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวพืชอาหารสัตว์ยังทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้ หากลงรายละเอียดไปในแต่ละกลุ่มปศุสัตว์ โดยยกตัวอย่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคปศุสัตว์ในสหภาพยุโรป จะพบว่า กิจกรรมการผลิตอาหารสัตว์สำหรับการเลี้ยงสุกรปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดราว 114 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นสัดส่วนถึง 63% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดตลอดห่วงโซ่การผลิตสุกร ซึ่งยิ่งสะท้อนว่าการผลิตอาหารสัตว์เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์ (รูปที่ 2) ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทผลิตอาหารสัตว์และปศุสัตว์รายใหญ่ของโลก เช่น Cargill และ JBS ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพัฒนา คือ อาหารสัตว์จากแมลงเพราะนอกจากจะตอบโจทย์เรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยให้สัตว์มีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกโดยตรงต่อผลผลิต อีกทั้งผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์จากแมลงยังมีแนวโน้มที่จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอนาคตอีกด้วย ซึ่งเราจะอธิบายรูปแบบและลักษณะของผลิตภัณฑ์ Insect Feed ในส่วนถัดไป
ทำความรู้จักกับอาหารสัตว์จากแมลง (Insect Feed)
Insect Feed คืออะไร?
Insect Feed คือ อาหารสัตว์ที่นำแมลงมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยสามารถแบ่งประเภท Insect Feed เป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ
- อาหารสำหรับปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ คือ อาหารสำหรับสุกร วัว ไก่ และอาหารสำหรับกุ้ง ปลา โดยใช้แมลงมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต เช่น หนอนนก แมลงวันลาย จิ้งหรีด สำหรับตัวอย่างบริษัทในต่างประเทศ ได้แก่ บริษัท Alltech Coppens ซึ่งเป็นบริษัท Startup สัญชาติเนเธอร์แลนด์ ที่ผลิตอาหารปลาจากโปรตีนแมลง หรือบริษัท Enviro flight เป็นบริษัท Startup สัญชาติสหรัฐ ที่ผลิตอาหารสัตว์จากหนอนแมลงวันลาย
- อาหารสัตว์เลี้ยง คือ อาหารสุนัขและแมวที่ใช้แมลงเป็นวัตถุดิบในการผลิต เช่น หนอนนก แมลงวันลาย เป็นต้น โดยปัจจุบันพบว่ามีผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงหลายรายหันมาพัฒนาผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงจากแมลงมากขึ้น เช่น บริษัท Yora ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษที่ผลิตอาหารสัตว์ที่เหมาะสำหรับสัตว์เลี้ยงที่แพ้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ชนิดอื่น หรือบริษัท Entoma บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสที่ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งเหมาะสำหรับสัตว์เลี้ยงที่แพ้ง่าย
Insect Feed ใช้ทดแทนอาหารสัตว์ดั้งเดิมได้ 100% หรือไม่?
สัดส่วนในการใช้ Insect Feed เพื่อทดแทนอาหารสัตว์ดั้งเดิมขึ้นอยู่กับประเภทของสัตว์ ช่วงอายุของสัตว์ รวมทั้งสายพันธุ์แมลงที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบ โดยจากรายงานการศึกษาเรื่อง Potential Utilization of Insect Meal as Livestock Feed (2022) ชี้ว่า อาหารของลูกสุกรควรใช้วัตถุดิบแมลงเป็นส่วนผสมประมาณ 3.5% ขณะที่อาหารของสุกรโตเต็มวัยควรใช้วัตถุดิบแมลงเป็นส่วนผสม 8% หรือจากการศึกษาของ Insect Meal to mix: Effect on fish feed pellet-All about Feed (2018) ระบุว่า ในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงจำพวกปลาควรมีการใช้วัตถุดิบแมลงเป็นสัดส่วน 75% นอกจากนี้ งานวิจัยเรื่อง Use of insects in poultry feed as replacement soya bean meal and fish meal in development countries ระบุว่า หากนำโปรตีนจากแมลงวันลายผสมอาหารสัตว์เลี้ยงแทนกากถั่วเหลืองเป็นสัดส่วนประมาณ 23-45% จะทำให้ไก่ออกไข่มากขึ้น (ตารางที่ 1)
โดยทั่วไปลักษณะผลิตภัณฑ์ Insect Feed มี 2 รูปแบบ 1) อาหารสัตว์สำเร็จรูปซึ่งพร้อมใช้เลี้ยงสัตว์ โดยเป็นการผลิตที่นำวัตถุดิบจากแมลงมาผสมกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ประเภทอื่น เช่น ปลาป่น กากถั่วเหลือง เป็นต้น ตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับสัตว์แต่ละประเภท 2) อาหารสัตว์ที่จำหน่ายเป็นอาหารเสริมที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ซึ่งผู้เลี้ยงจะต้องนำไปผสมกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ประเภทอื่นเอง ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม
ทำไมจึงควรใช้ Insect feed
- Insect Feed ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตอาหารสัตว์ดั้งเดิมที่ใช้กากถั่วเหลือง ดังจะเห็นได้จากการศึกษาของ Bryan, Garnier & Co (2022) พบว่า การผลิต Insect Feed ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ดั้งเดิม เช่น ถั่วเหลือง ในหลากหลายมิติทั้งในด้านการใช้ทรัพยากร เช่น การใช้ที่ดิน การใช้น้ำ รวมทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เป็นต้น (รูปที่ 3) ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ Deutsches Institut für Lebensmitteltechnik (DIL) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยอุตสาหกรรม ในประเทศเยอรมนี ระบุว่าการผลิต Insect Feed 1 กิโลกรัม ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกราว 1.1 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ต่ำกว่าอาหารสัตว์จากถั่วเหลืองซึ่งอยู่ที่ 7.5 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือต่ำกว่าถึง 7 เท่า อีกทั้งยังใช้น้ำในการผลิตน้อยกว่าถึง 330 ลิตร
ทำให้ปัจจุบันกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ได้มีการนำแมลงมาผลิตเป็นอาหารสัตว์อย่างแพร่หลาย เช่น บริษัท Better Origin ซึ่งเป็น Startup ในสหราชอาณาจักร ที่พัฒนาการผลิตอาหารสัตว์จากหนอนแมลงวันลาย โดยมีการเพาะเลี้ยงฟาร์มแมลงที่เรียกว่า Better Origin X1 ซึ่งเป็นฟาร์มที่มีลักษณะเหมือนตู้คอนเทนเนอร์โดยภายในจะมีการใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยในการเพาะเลี้ยงแมลง ซึ่งผลผลิตที่ได้จากกระบวนการเพาะเลี้ยงในฟาร์มเหล่านี้จะสามารถนำมาผลิตอาหารให้ไก่ไข่ราว 32,000 ตัวต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงปีละ 5,737 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการลดการตัดไม้ทำลายป่าในอเมริกาใต้ได้ถึง 336 ไร่ต่อปี หรือบริษัท Ynsect ซึ่งเป็นบริษัท Startup สัญชาติฝรั่งเศส ที่ผลิตโปรตีนจากแมลง ซึ่งได้มีการระดมเงินทุนสร้างฟาร์มเลี้ยงแมลง เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง โดยกระบวนการผลิตในรูปแบบดังกล่าวช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 3,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี นอกจากนี้อาหารสัตว์เลี้ยงจากแมลงยังมีสารอาหารที่ช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สัตว์ รวมทั้งช่วยลดอาการแพ้อาหารสัตว์ในสัตว์เลี้ยง อีกทั้งแมลงอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินนานาชนิด มากกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่นที่นำมาใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง รวมทั้งยังมีไฟเบอร์ ที่ไม่สามารถหาได้ในเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ (ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความ ทำความรู้จัก Insect Products เมื่อแมลงกลายเป็นแหล่งโปรตีนใหม่แห่งโลกอนาคต)
- Insect Feed ช่วยรับมือกับกฎระเบียบทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก และเป็นตลาดส่งออกอาหารสัตว์คิดเป็นสัดส่วนรวมกันคิดเป็นเกือบ 50% ของมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์ทั้งหมดของไทย (รูปที่ 4) โดยในระยะข้างหน้ามาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เป็นอุปสรรคทางการค้าสำหรับผู้ส่งออกอาหารสัตว์ของไทยที่ปรับตัวไม่ทัน โดยมาตรการที่มีโอกาสส่งผลกระทบกับธุรกิจอาหารสัตว์ ได้แก่ นโยบายฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork) ของสหภาพยุโรปซึ่งเป็นมาตรการที่ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงผู้บริโภค โดยจะต้องมีการพัฒนาระบบอาหารที่มีความโปร่งใส ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการปลูก การแปรรูป การบริโภค จนถึงการกำจัดขยะอาหาร ทำให้อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอาหารสัตว์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในสหภาพยุโรป ซึ่งในอนาคตอาจขยายมาตรการให้ครอบคลุมสินค้าประเภทอื่น จึงเป็นปัจจัยกดดันต่อธุรกิจอาหารสัตว์ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว จำเป็นที่ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง Insect Feed เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ
- Insect Feed เป็นทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงที่วงการอาหารสัตว์ให้ความสนใจมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ สร้างความกังวลในเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบธัญพืช ซึ่งส่วนหนึ่งใช้สำหรับการผลิตอาหารสัตว์ รวมทั้งทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (รูปที่ 5) เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก โดยมีสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราว 19% ของปริมาณการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดของโลก และมีสัดส่วนการส่งออกข้าวสาลีราว 29% ของปริมาณการส่งออกข้าวสาลีทั้งหมดของโลก
ซึ่งจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นจะทำ Insect Feed เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารสัตว์ในการช่วยกระจายความเสี่ยงในด้านการจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ โดยจะช่วยในการลดการพึ่งพานำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การนำเข้าถั่วเหลืองของไทย ที่พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบถึง 99.0% ของความต้องการใช้ในประเทศทั้งหมด (รูปที่ 6) อีกทั้ง ผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ของไทยมีต้นทุนด้านวัตถุดิบถึง 80% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด การผลิตอาหารสัตว์ทดแทนจึงเป็นแนวทางที่ช่วยรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ นอกจากนี้ ไทยยังมีสภาพอากาศที่ร้อนชื้น ซึ่งเหมาะสำหรับการเติบโตของแมลงหลากหลายสายพันธุ์ จึงทำไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ Insect Feed โดยจากข้อมูลของ FAO พบว่าสายพันธุ์แมลงในไทยที่สามารถใช้สำหรับการผลิตอาหารสัตว์ได้มีหลายสายพันธุ์ เช่น หนอนแมลงวันลาย จิ้งหรีด และหนอนนก เป็นต้น
มูลค่าตลาด Insect Feed ของโลกใหญ่แค่ไหน
คาดว่ามูลค่าตลาด Insect Feed ของโลกจะแตะระดับ 6 พันล้านดอลลาร์สรอ. ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจากรายงานของ Market Reports World คาดว่าในปี 2570 มูลค่าตลาด Insect Feed ของโลกจะอยู่ที่ 6,039 ล้านดอลลาร์สรอ. (ประมาณ 223,451 ล้านบาท) หรือขยายตัวเฉลี่ยปีละ 26.8%CAGR จากเดิมในปี 2565 ที่เท่ากับ 1,842 ล้านดอลลาร์สรอ. (ประมาณ 68,169 ล้านบาท)
ส่วนตลาด Insect Feed ของประเทศไทย Krungthai COMPASS คาดว่าในปี 2570 จะอยู่ที่ราว 1,500 ล้านบาท จากเดิมในปี 2565 ที่มีมูลค่าเท่ากับ 459 ล้านบาท หรือขยายตัวเฉลี่ยปีละ 26.7%CAGR หรือคิดเป็น 0.3% ของมูลค่าตลาดอาหารสัตว์ในประเทศในปี 2570 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ราว 4.4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการประเมินโดยอ้างอิงจากงานวิจัยของต่างประเทศที่มีข้อมูลมูลค่าตลาด Insect Feed ของเอเชีย จากนั้นเราคาดการณ์มูลค่าตลาด Insect Feed ของไทย โดยกำหนดให้สัดส่วนมูลค่าตลาด Insect Feed ของไทยเทียบกับมูลค่าตลาด Insect Feed ของเอเชีย เป็นสัดส่วนเดียวกับความต้องการใช้อาหารสัตว์รวมของไทยเทียบกับความต้องการใช้อาหารสัตว์รวมของเอเชีย ซึ่งขึ้นอยู่กับ 1) จำนวนผลผลิตปศุสัตว์แต่ละชนิด 2) ปริมาณอาหารสัตว์ที่ต้องการของสัตว์แต่ละชนิด
Insect Feed เป็นโอกาสสำหรับใครบ้าง
Krungthai COMPASS ประเมินว่า การที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มที่จะหันมาใช้ Insect Feed มากขึ้น ในอนาคต จะส่งผลบวกต่อผู้เพาะเลี้ยงแมลง ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้ใช้อาหารสัตว์ และภาครัฐ ดังนี้
- ผู้เพาะเลี้ยงแมลง Insect Feed จะช่วยสร้างความต้องการผลิตภัณฑ์จากแมลงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อรายได้ของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงแมลง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงแมลงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับแนวทางปฎิบัติด้านมาตรฐานการเลี้ยงและการรับรองมาตรฐานยกตัวอย่างเช่น “แนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด” หรือ GAP ฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ. 8202-2560) เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เลี้ยงแมลงสามารถตั้งราคาขายได้สูงขึ้น
- ผู้ผลิตอาหารสัตว์ Insect Feed ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดยจากข้อมูลของ Petco ชี้ว่า พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้น สำหรับสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีการใช้วัตถุดิบทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ราคาอาหารสัตว์เลี้ยงที่ผลิตมาจากแมลง สามารถตั้งราคาได้สูงกว่าอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วไป และแม้ว่าปัจจุบันต้นทุนการผลิต Insect Feed ยังสูงกว่าต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ทั่วไป แต่ในระยะข้างหน้าแนวโน้มต้นทุนการผลิตจะถูกลง เนื่องจากผู้ผลิตอาหารสัตว์ต่างมีการลงทุนขยายกำลังการผลิตมากขึ้นจนทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด
นอกจากนี้ ธุรกิจยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งในรูปแบบสิทธิพิเศษด้านภาษี และการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับการนำเข้าเครื่องจักร จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการขยายการลงทุนต่อยอดในกลุ่ม Insect Feed เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand Board of Investment :BOI) พบว่า ในปี 2564 มีบริษัทในกลุ่มกิจการผลิตอาหารสัตว์ ได้รับการอนุมัติจาก BOI จำนวน 28 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 10,393.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 17 โครงการ เงินลงทุนรวม 2,345.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ทั้งในแง่จำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนถึง 64.7% และ 343.1% ตามลำดับ
- ผู้ใช้อาหารสัตว์ เช่น ผู้เลี้ยง ผู้เพาะเลี้ยง โดย Insect Feed ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ดังจะเห็นจากงานวิจัยของ Bryan, Garnier & co (2022) ที่ชี้ว่า ปลากะพงที่ได้รับการให้อาหารสัตว์จากแมลงจะมีอัตราการตายลดลง 25% เมื่อเทียบกับปลากระพงที่ได้รับการให้อาหารสัตว์ปกติ เนื่องจากสารอาหารจากแมลงช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้สัตว์ เช่น โปรตีนจากแมลงวันลายมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตเชื้อก่อโรคต่างๆ ส่งผลให้การติดเชื้อในสัตว์ลดลง หรือการศึกษาของ Insect meal as a feed ingredient for poultry (2022) พบว่า ไก่ที่บริโภคอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีส่วนผสมของแมลง จะมีเนื้อที่ต้นขาเพิ่มขึ้น ซึ่งประสิทธิภาพในการเลี้ยงที่เพิ่มขึ้นจะทำให้กำไรของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากผู้ประกอบการในกลุ่มผู้เลี้ยงไก่เนื้อใช้ Insect Feed ทดแทนอาหารสัตว์ดั้งเดิมในสัดส่วนที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นได้ 3% ซึ่งประเมินโดยมีสมมติฐานซึ่งอ้างอิงจาก Uses insects in poultry feed as replacement soya bean meal and fish meal in development countries: a systematic review (2021) ที่ระบุว่า หากใช้ Insect Feed ในสัดส่วนที่เหมาะสมจะทำให้อัตราการแลกเนื้อ (FCR) [1]ลดลง 30% ทำให้ FCR เดิมของธุรกิจเลี้ยงไก่เนื้อจาก 1.70 ลดลงเป็น 1.19 ขณะที่ถ้าอ้างอิงข้อมูลจาก Insect larvae, Hermetia illucens in poultry by-product meal for barramundi, Lates calcarifer modulates histomorphology, immunity and resistance to Vibrio harveyi ระบุว่าการใช้ Insect Feed จะทำให้อัตราการรอดในการเลี้ยงไก่เนื้อ (Survival Rate) เพิ่มขึ้นจากเดิม 93% เป็น 96% และกำหนดให้ราคาวัตถุดิบ Insect feed ที่ทำจาก Black soldier fly larvae meal อยู่ที่ 94 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ดั้งเดิมอย่างกากถั่วเหลืองอยู่ที่ 22 บาทต่อกิโลกรัม และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ 12 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเมื่อใช้ Insect Feed ทดแทนอาหารสัตว์ดั้งเดิมในสัดส่วน 10% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงไก่เนื้อ พบว่า การใช้ Insect Feed จะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของผู้เลี้ยงเพิ่มขึ้นเป็น 10% จากเดิมอยู่ที่ 7.0%
- ภาครัฐ ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐมีความพยายามในการผลักดันการพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเทรนด์การใช้ Insect Feed จะช่วยให้เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรสำเร็จได้ง่ายขึ้น อีกทั้งทำให้ภาพลักษณ์สินค้าไทยดีขึ้น และลดแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมจากคู่ค้าต่างประเทศ เนื่องจากภาคปศุสัตว์ของไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับต้นๆ ในภาคเกษตรและอาหาร โดยจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ว่า ภาคปศุสัตว์ของไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 20.7% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรและอาหารทั้งหมดของไทย เป็นอันดับ 3 รองจากการเพาะปลูกข้าว และการใช้ดินเพาะปลูก ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 50.7% และ 22.7% ตามลำดับ ดังนั้นหากไทยมีการใช้ Insect Feed เพิ่มมากขึ้นก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกในกลุ่มเกษตรและอาหารที่ถูกจับตาในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม
ถ้าหากไทยมีการใช้ Insect feed แพร่หลายมากขึ้นจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้แค่ไหน?
หากไทยมีการใช้ Insect Feed แพร่หลายมากขึ้น โดยสมมติฐานว่าภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันในการผลักดันการใช้ Insect Feed จนทำให้มีสัดส่วนการใช้ Insect Feed ทดแทนอาหารสัตว์ดั้งเดิมได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายของสหภาพยุโรปที่ต้องการใช้ Insect Feed ราว 5-12% ของปริมาณการใช้อาหารสัตว์ทั้งหมด จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ราว 4 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกป่า 34 ล้านต้น คิดเป็นพื้นที่ป่า 3.4 แสนไร่ [2]หรือประมาณ 0.4 เท่าของพื้นที่กรุงเทพฯ โดยในการประเมินเริ่มจากการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมการผลิตอาหารสัตว์ของไทย โดยใช้ฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเกณฑ์ของ Global Livestock Environmental Assessment Model (GLEAM) ที่มีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการผลิตปศุสัตว์ ในกิจกรรมการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งจากข้อมูลของ GLEAM ประเมินว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคปศุสัตว์ในอาเซียนอยู่ที่ 327.41 ล้านตันคาร์บอน
ไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี แต่เนื่องจาก GLEAM ไม่มีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายประเทศ เราจึงประมาณการสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์ของไทยเทียบอาเซียนก่อน โดยเป็นการพิจารณาจากจำนวนปศุสัตว์แต่ละชนิดและอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสัตว์แต่ละประเภทของประเทศในอาเซียน ทำให้ได้สัดส่วนของไทยอยู่ที่ 7.4% ซึ่งเมื่อคูณกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคปศุสัตว์ในอาเซียนตามเกณฑ์ข้อมูลของ GLEAM จะทำให้ได้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์ของไทยราว 24.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากนั้นกำหนดให้สัดส่วนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรมผลิตอาหารสัตว์ของไทย เท่ากับสัดส่วนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรมอาหารสัตว์ต่อปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของภาคปศุสัตว์ในอาเซียนซึ่งอยู่ที่ 58.07% จะทำให้ได้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรมอาหารสัตว์ของไทยราว 14.1 ล้านตันคาร์บอน
ไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และหากอ้างอิงข้อมูลจาก The Potential of Insect Protein to Reduce Food-based Carbon Footprints in Europe ซึ่งระบุว่า การใช้ Insect Feed ในการเลี้ยงปศุสัตว์จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 34% เมื่อเทียบกับการใช้อาหารสัตว์แบบดั้งเดิม และหากกำหนดให้ไทยมีสัดส่วนการใช้ Insect Feed ทดแทนอาหารสัตว์ดั้งเดิมได้ใกล้เคียงกับของสหภาพยุโรปที่มีเป้าหมายใช้ Insect Feed ราว 5-12% ของปริมาณการใช้อาหารสัตว์ทั้งหมด ซึ่งเมื่ออ้างอิงสัดส่วนดังกล่าวก็จะช่วยให้ไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 4 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
Implication:
Krungthai COMPASS แนะนำผู้ประกอบการผลิต Insect Feed
- ควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับจากคู่ค้าต่างประเทศ สำหรับตัวอย่างการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจในกลุ่ม Insect feed ในต่างประเทศและไทย เช่น บริษัท Green Petfood ซึ่งเป็นบริษัท Start Up สัญชาติเยอรมัน ได้มีการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงจากแมลงที่เหมาะสำหรับสุนัขหรือแมวที่แพ้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ประเภทอื่นอย่างรุนแรง หรือบริษัท ไทยยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) ได้เข้าลงทุนในบริษัท Orgafeed ในการผลิตขนมสำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีส่วนผสมจากแมลงยี่ห้อ Laika ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถขอรับคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐหรือสถานศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) หรือศูนย์วิจัยนวัตกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น
- ควรศึกษากฎระเบียบด้านอาหารสัตว์ที่เข้มงวดและมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ต้องมีการติดตามกฏระเบียบ และปฏิบัติตามกฏระเบียบอย่างเคร่งครัด รวมทั้งต้องมีการขอใบอนุญาตในการส่งออกไปยังประเทศนั้น เช่น ในการส่งออกอาหารสัตว์ไปในตลาดสหภาพยุโรป ต้องได้รับอนุญาตตามข้อบังคับ (EU) 1881/2006 [124] และข้อบังคับ (EU) 1275/2013 หรือในการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไปยัง
สหราชอาณาจักรจำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตจาก The Animal and Plant Health Agency - การสร้างความร่วมมือในห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ตั้งแต่ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงแมลง ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้ประกอบการในกลุ่มการเลี้ยงและแปรรูปปศุสัตว์ ไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐเพื่อยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรม Insect Feed โดยตัวอย่างการสร้างความร่วมมือในการสนับสนุน Ecosystem อุตสาหกรรม Insect feed ในต่างประเทศ เช่น Agriculture and Agri-Food Canada (AAFC) ได้ให้เงินสนับสนุนแก่ภาคเอกชนเป็นจำนวนเงิน 6.5 ดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 169 ล้านบาท เพื่อใช้ในการพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงจากแมลงหรือ รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้สนับสนุนเงิน 10 ล้านปอนด์ในกองทุน Industrial Strategy Challenge Fund (ISCF) เพื่อช่วยสร้างฟาร์มแมลงเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศ ส่วนในประเทศไทย บริษัท เดอะ บริคเก็ต จำกัด ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการ ในการติดตั้งระบบ IoT (ARCHETHAi) และให้คำปรึกษาผู้เพาะเลี้ยงแมลงที่เป็นพาร์ทเนอร์กับทางบริษัท เป็นต้น
[1] อัตราแลกเนื้อ (FCR: Feed Conversion Ratio) =ปริมาณอาหารที่ไก่กินทั้งหมด/น้ำหนักไก่ทั้งหมด
[2] ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการปลูกป่าประเมินโดยอ้างอิงจากเอกสารวิชาการ เรื่อง การประเมินการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้ และโครงการ T-VER โดยใช้การปลูกต้นไม้ยืนต้นพรรณไม้พื้นเมืองโตช้า/พรรณไม้อเนกประสงค์ซึ่ง 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 12 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ใช้ระยะปลูก 4 x 4 เมตร โดยปลูกจำนวน 100 ต้นต่อไร่
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon