มิติหุ้น – นายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า “จากการที่บริษัทคว้ารางวัล Fastest Growing Leasing Finance Company 2022 จากเวทีระดับโลก International Finance Awards 2022 ซึ่งความสำเร็จนี้สะท้อนความร่วมแรงร่วมใจกันทำงานของพนักงานภายในองค์กร และความร่วมมือระหว่างทีมงานของธนาคารกสิกรไทยและบริษัทในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และส่งมอบการขายการบริการถึงลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ รวมถึงการผนึกความร่วมมือกับคู่ค้าและพันธมิตรผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายรถยนต์เพื่อออกแคมเปญและผลิตภัณฑ์ที่โดนใจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลถึงการเติบโตทางธุรกิจ ทั้งด้านการปล่อยสินเชื่อใหม่และกำไรสุทธิ”
สำหรับผลประกอบการของลีสซิ่งกสิกรไทย ในช่วง 2 ปี 2564 และ 2565 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถขยายฐานสินเชื่อหรือยอดคงค้างสินเชื่อ (Outstanding Loan) เพิ่มขึ้น 5.4% และ 13.4% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่ายอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อในระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 และ 2565 ที่เติบโต 0.12% และ 0.35% ในช่วงเวลาเดียวกัน สำหรับการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ทุกประเภทในปี 2565 มียอดรวมกว่า 113,445 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 18% เมื่อรวมกับการปรับปรุงกระบวนการทำงานและควบคุมค่าใช้จ่ายและกระบวนการติดตามการชำระหนี้ที่มีประสิทธิภาพขึ้นส่งผลให้บริษัทมีกำไร New High 2,134 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 24.8% และมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของสินทรัพย์ (ROA) และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือ( ROE) ทั้งปี อยู่ที่ 1.6% และ 17.9% ตามลำดับ
ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลให้ลีสซิ่งกสิกรไทยมีการเติบโตในปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ครบทุกด้านและสามารถเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่เพื่อสร้างรายได้ดอกเบี้ยรับสูงขึ้น เช่น ด้านสินเชื่อรถใหม่ และสินเชื่อเพื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ ลีสซิ่งกสิกรไทยได้ขยายความร่วมมือกับพันธมิตรผู้ผลิตและนำเข้ารถยนต์เพิ่มขึ้นอีกหลายแบรนด์จากเดิม เช่น BYD และ Neta รวมถึงการทำแคมเปญร่วมกับพันธมิตรเดิมอย่าง Audi, Mitsubishi, MG, Suzuki, Mazda, Subaru และHyundai พร้อมเดินหน้าสอดรับนโยบาย Go Green Together สร้างสังคมสีเขียวของธนาคารกสิกรไทย โดยลีสซิ่งกสิกรไทยเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรถอย่างเป็นทางการกับแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ มีเป้าหมายครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ที่ 25% จากปัจจุบันที่ 16% ของผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
ด้านสินเชื่อรถใช้แล้ว ลีสซิ่งกสิกรไทยตอบสนองพฤติกรรมการซื้อรถยนต์มือสองของลูกค้าที่เปลี่ยนไป และมุ่งเน้นผสานความร่วมมือกับคู่ค้า ตอกย้ำด้วยส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์มือสองผ่านผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ออนไลน์
ด้านสินเชื่อรถช่วยได้ ลีสซิ่งกสิกรไทยได้ออกผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุม ตอบสนองความลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจงและหลากหลายมากขึ้น ได้แก่สินเชื่อรถช่วยได้ ประเภทไม่ต้องแสดงเอกสารรายได้ (Self–Declared) สินเชื่อรถช่วยได้ ประเภทผ่อนอยู่ก็กู้ได้ (Balance Transfer) และสินเชื่อรถช่วยได้ รถคันเดิม กู้เพิ่มได้ (Top–Up)
“ลีสซิ่งกสิกรไทยยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการและชูนวัตกรรมการขอสินเชื่อรถยนต์ผ่านช่องทางดิจิทัล ตอบโจทย์ความต้องการและรองรับพฤติกรรมลูกค้าทุกเซกเมนต์ ต่อยอดจุดแข็งของธนาคารกสิกรไทยที่มีเครือข่ายและฐานลูกค้า K PLUS จำนวนมาก โดยปีที่ผ่านมาลีสซิ่งกสิกรไทยได้พัฒนาการประเมินผลการอนุมัติด้วย i–Scoring ซึ่งเป็น Integrated Credit Scoring ของธนาคารที่รวบรวมคะแนนทั้งคะแนนด้านเครดิตบูโร (Application Score Bureau Score) และคะแนนพิเศษกรณีที่ผู้ขอสินเชื่อเป็นลูกค้าของธนาคารกสิกรไทย และในปีนี้เราได้เปิดช่องทางให้ลูกค้าสามารถสมัครสินเชื่อรถใหม่ด้วยตนเองผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital Self–Apply) ที่ครบ จบ ง่าย และยังคงประมวลผลอนุมัติด้วยระบบ i–Scoring ด้วยเช่นกัน ด้วยนวัตกรรมดังกล่าวจึงช่วยทำให้การอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ให้ลูกค้าของธนาคารกสิกรไทยทำได้ง่ายรวดเร็วและแม่นยำขึ้น เพิ่มโอกาสในการอนุมัติแก่กลุ่มลูกค้าของธนาคารได้มากขึ้น” นายธีรชาติ กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับสภาวะของตลาดรถยนต์ไทยปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยและลีสซิ่งกสิกรไทยคาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2566 น่าจะขยายตัวระหว่าง 5–8% หรือที่ประมาณ 890,000-920,000 คัน โดยปัญหาการขาดแคลนชิปที่คลี่คลายลง การเปิดตัวรถรุ่นใหม่ และการแข่งขันด้านราคาที่จะเพิ่มสูงขึ้นผลักดันให้ตลาดยังเติบโต โดยประเภทรถที่คาดว่าจะขยายตัวจะเป็นกลุ่มรถอเนกประสงค์ขนาดเล็ก โดยเฉพาะในรุ่นมีระบบขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบ เช่น ไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด และ BEV เนื่องจากช่วยในเรื่องการประหยัดน้ำมัน รวมถึงรถกระบะและรถบรรทุก ที่ยังมีโอกาสเติบโตได้ตามการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐและเอกชน สำหรับยอดขาย BEV ในประเทศปีนี้ คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องระหว่าง 160.1%-271.6% หรือประมาณการเป็นจำนวน 35,000 – 50,000 คัน ทำให้ส่วนแบ่งขยับขึ้นเป็นกว่า 4% ของยอดขายรถยนต์รวม โดยปัจจัยบวกมาจากการตอบรับของผู้ซื้อรถ การได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ การเปิดตัวรถ BEV รุ่นใหม่ในหลากหลายเซกเมนต์และจากหลายค่ายมากขึ้นในประเทศ ส่งผลให้การแข่งขันของธุรกิจให้เช่าซื้อสินเชื่อรถใหม่ในปี 2566 คาดว่ามีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เช่นเดียวกับทิศทางของสินเชื่อรถประเภทจำนำทะเบียน ที่คาดว่ายังมีโอกาสเติบโตในเกณฑ์สูงที่ระดับ 25–30% เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความต้องการวงเงินสินเชื่อเงินสด ซึ่งสินเชื่อประเภทนี้เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ในแง่ต้นทุนดอกเบี้ยและโอกาสการได้รับสินเชื่อ
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon