บลจ.กสิกรไทย เดินเกมรุกตั้งเป้าโต 1.55 ล้านล้าน ชูกลยุทธ์สู่แบรนด์กองทุนอันดับ 1 ในใจผู้ลงทุน

99

มิติหุ้น – บลจ.กสิกรไทย ตั้งเป้าหมายปี 66 เติบโตไปอยู่ที่ 1.55 ล้านล้านบาท พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์มุ่งสู่การเป็นธุรกิจที่ครองใจลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง ภายใต้แนวคิด Top of Mind Investment House ควบคู่กับการบูรณาการด้าน ESG เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน แนะผู้ลงทุนก้าวข้ามความผันผวนชวนกระจายลงทุนตามเทรนด์โลก

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) พร้อมผู้บริหารของบลจ.กสิกรไทย ร่วมแถลงแผนกลยุทธ์ปี 2566 มุ่งสู่การเป็นธุรกิจที่ครองใจลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง ภายใต้แนวคิด Top of Mind Investment House ควบคู่กับการบูรณาการด้าน ESG เพื่อช่วยยกระดับตลาดทุนไทย และเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนมีความมั่งคั่งจากการลงทุนในกองทุนรวม อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย ตั้งเป้าหมายปี 2566 เติบโตไปอยู่ที่ 1.55 ล้านล้านบาท

นายอดิศรกล่าวต่อไปว่า แผนกลยุทธ์ปี 2566 ของบลจ.กสิกรไทย ได้ให้ความสำคัญใน 5 ด้าน โดยเริ่มต้นจาก 1) มุ่งสร้างผลตอบแทน ด้วยการต่อยอดและพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการกองทุนให้ได้ผลตอบแทนที่โดดเด่นอย่างสม่ำเสมอ 2) สร้างความน่าเชื่อถือ ผ่านการให้คำแนะนำที่เหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์อย่างตรงไปตรงมา 3) ดูแลคู่ค้าอย่างเข้าใจ พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ตามโจทย์ของคู่ค้าแต่ละราย เพื่อนำไปเสนอขายให้ตรงใจผู้ลงทุน 4) บริหารพอร์ตให้กับผู้ลงทุนสถาบัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์และสภาพคล่องให้กับลูกค้าผู้ลงทุนสถาบัน และ 5) ตัวช่วยวางแผนเกษียณ นำเสนอตัวเลือกที่หลากหลาย ตอบโจทย์ทุกเป้าหมายเกษียณให้แก่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ กลยุทธ์ดังกล่าวจะทำควบคู่กับการบูรณาการด้าน ESG และครอบคลุมลูกค้าทั้ง 3 ธุรกิจ ทั้งธุรกิจกองทุนรวม ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล และธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงตัวแทนผู้จัดจำหน่าย ซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของบลจ.กสิกรไทย

“สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังมีแนวโน้มที่จะชะลอตัว ตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีความผันผวนสูง ในขณะที่ตลาดได้สะท้อนความคาดหวังต่อสัญญาณเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงไปแล้ว ทำให้ในระยะถัดไปคาดว่าจะเริ่มเห็นโอกาสการกลับมาของตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียนำโดยประเทศจีน ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าฝั่งสหรัฐฯและยุโรป อันมีปัจจัยสนับสนุนจากการทยอยเปิดประเทศ การบริโภคจำนวนมหาศาล และความก้าวหน้าทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี ส่วนประเทศเวียดนามยังคงมีความน่าสนใจจากระดับการประเมินมูลค่าหุ้น (Valuation) และปัจจัยภายในประเทศทั้งการบริโภค การส่งออก และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ อีกทั้งในระยะยาว เวียดนามยังมีโอกาสที่จะได้รับการปรับสถานะจากตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier Market) เป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งจะทำให้มีฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาได้อีกมาก

สำหรับประเทศไทยมีทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นบวกมากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวทั่วโลก การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม และเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติ โดยมองเป้าหมายดัชนีปลายปีอยู่ที่ระดับ 1800 จุด ด้านตลาดตราสารหนี้ไทยปัจจุบันได้สะท้อนถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตที่ระดับประมาณ 2.00-2.25% แล้ว มองว่าการลงทุนในตราสารหนี้ไทยยังมีความน่าสนใจและอยู่ในระดับที่สามารถเข้าลงทุนได้” นายอดิศรกล่าว

จากสภาวะตลาดปัจจุบันที่ยังสะท้อนความน่าสนใจของตลาดตราสารหนี้ ในขณะที่เริ่มเห็นทิศทางการกลับมาของตลาดหุ้นทั่วโลก บลจ.กสิกรไทย จึงอยากแนะนำให้ผู้ลงทุนใช้หลักกระจายการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเพียงสินทรัพย์เดียว และเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนในทุกสภาวะตลาด โดยลงทุนผ่านกองทุนผสม ซึ่งเป็นกองทุนที่มีนโยบายที่เน้นกระจายการลงทุน ได้แก่ K-GINCOME, K-PLAN2, K-PLAN3 สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนเป็นรายกองเพื่อเพิ่มสัดส่วนให้กับพอร์ตการลงทุนด้วยตัวเอง ก็สามารถลงทุนในกองทุนที่สอดรับกับมุมมองข้างต้นได้เช่นกัน ซึ่งประกอบไปด้วย กองทุนหุ้นต่างประเทศ ได้แก่ K-CHANGE, K-CHINA กองทุนหุ้นไทย ได้แก่ K-STAR กองทุนตราสารหนี้ ได้แก่ K-SF ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอทุกเดือนผ่านการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Average : DCA) ผ่าน App K-My Funds เพื่อเป็นการฝึกวินัยทางการเงินและส่งเสริมให้เกิดความมั่งคั่งในอนาคต

นายอดิศรกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีที่ผ่านมา บลจ.กสิกรไทย มีจำนวนผู้ลงทุนผ่านช่องทางดิจิทัลทั้ง K-PLUS และ K-My Funds เป็นจำนวน 357,086 ราย คิดเป็นสัดส่วน 43% จากจำนวนผู้ลงทุนทั้งหมด และสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ได้ในทุกช่องทางรวมเป็นจำนวน 136,842 ราย ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) อยู่ที่ 1.41 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจกองทุนรวม 9.93 แสนล้านบาท ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 2.34 แสนล้านบาท และธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล 1.88 แสนล้านบาท โดยยังครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมกองทุนรวม (ข้อมูลจาก บลจ.กสิกรไทย ณ 31 ธ.ค. 65)

 

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon