มิติหุ้น – ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยส่งผลกระทบต่อชีวิตคนในหลากหลายด้าน ประเด็นที่น่าสนใจคือหลายครอบครัวที่มีเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี ขาดโอกาสในการเข้าถึงการขอรับคำปรึกษาการเลี้ยงดูบุตรปฐมวัย รวมไปถึงการรักษาทางการแพทย์ ด้วยเหตุผลด้านทุนทรัพย์และการขาดความรู้ ซึ่งเด็กเล็กในวัย 0-6 ปี เป็นช่วงวัยที่สมองกำลังมีพัฒนาการสำคัญ ที่ครอบคลุมการพัฒนาด้านร่างกาย สังคม อารมณ์ และจิตใจ ดังนั้น ผู้ปกครองควรมีความรู้ในการเลี้ยงและดูแลเด็กในวัยนี้ รวมทั้งสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์ ตลอดจนการเสริมสร้างพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เด็กได้เติบโตอย่างสมวัย
‘ลูกทำได้’ แชทบอทคัดกรองและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก หนึ่งในกิจการเพื่อสังคมจากโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ Banpu Champions for Change (BC4C) โดย บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และสถาบัน ChangeFusion ที่ประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดความรู้แก่พ่อแม่มือใหม่ให้สามารถตรวจสอบพัฒนาการลูก ตลอดจนขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อลดภาวะเสี่ยงพัฒนาการล่าช้า ไม่เป็นไปตามวัย โดยใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวอย่างโทรศัพท์มือถือในการรับบริการผ่านแอปพลิเคชั่น LINE
‘ลูกทำได้’ จากจุดเริ่มต้น สู่โปรเจ็กต์ที่มี Impact ต่อสังคมจริง
คุณปรียสรณ์ อาศรัยราษฎร์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ลูกทำได้ จำกัด เผยถึงประสบการณ์ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมว่า “ธุรกิจ SE ลูกทำได้ @lukthamdai เป็น Line Official Account ที่คอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงสามปี ในช่วงแรกที่เริ่มโครงการเราประสบปัญหาด้านการหาคนมาร่วมทีม เพราะคนจะมองว่าพัฒนาการเด็กเป็นประเด็นไกลตัว จึงต้องเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องนี้ ผ่าน Workshop พัฒนาการเด็ก และโชคดีที่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในเครือข่าย SE อย่างโครงการ BC4C จึงได้รับคำแนะนำเรื่องการประกอบกิจการเพื่อสังคม โดยวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญตัวจริงภายใน รวมไปถึงทุนสนับสนุนจากทางโครงการฯ เพื่อใช้พัฒนาแผนธุรกิจให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าเป็นแหล่งพักพิงในช่วงตั้งไข่ของธุรกิจเรา”
จากการเข้าร่วม Incubation Program ในโครงการ BC4C ‘ลูกทำได้’ ได้ผ่านกระบวนการบ่มเพาะจากหลายๆ กิจกรรมในโครงการ เช่น การได้รับคำแนะนำและเชื่อมโยงกับที่ปรึกษาเฉพาะด้าน การสัมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแนวคิด รูปแบบทางธุกิจ เพื่อให้เกิดความชัดเจนถึงแนวทางการสร้างรายได้และการสร้างผลกระทบทางสังคม การพัฒนาทักษะที่สำคัญในช่วงของการเริ่มกิจการ เช่น การทำแผนธุรกิจ การทำแผนทดสอบตลาด การวัดผลทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และการนำเสนอกิจการกับนักลงทุน รวมทั้งการให้คำปรึกษาด้านการทำรายงานสรุปโครงการ เป็นต้น
“ความยากลำบากในช่วงแรกคลายลงได้ จากการที่ BC4C ช่วยให้เราทำความเข้าใจเป้าหมายทั้งในเชิงการแก้ไขปัญหาสังคม ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางธุรกิจ นอกจากนั้นยังมีหนึ่งในผู้สนับสนุนอย่าง NIA ที่ให้เงินทุนสนับสนุนเพื่อไปขับเคลื่อนประเด็นที่เราต้องการเปลี่ยนแปลง ช่วยให้เรามีพื้นฐานที่มั่นคง สามารถก้าวต่อไปได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนแข็งแกร่งขึ้นได้อย่างทุกวันนี้ โดยปัจจุบันเรามีพ่อแม่ที่เข้ามาใช้บริการต่อเนื่องมากกว่า 2,000 ครอบครัว เกิดการค้นพบภาวะเสี่ยงพัฒนาการล่าช้าทันทีถึง 600 เคส และกำลังทำความร่วมมือกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อขยายบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทยมากขึ้น ตามเป้าหมายของลูกทำได้ คือ การสร้างระบบนิเวศเพื่อสุขภาวะ (Healthy Ecosystem) ที่พ่อแม่จะสามารถดูแลลูกได้ผ่านศักยภาพของตนเองโดยพึ่งพาเราน้อยลง”
ทางด้าน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หนึ่งในหน่วยงานที่เข้ามาช่วยขยายผล ‘แชทบอทลูกทำได้’ มองเห็น Pain Point และโอกาสที่อยู่ในสังคม โดยมุ่งแสวงหาและส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสังคมสำหรับใช้เป็นแนวทางการแก้ไขในรูปแบบที่สร้างสรรค์ สามารถทลายข้อจำกัดต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาภชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนได้จริง โดยไม่ทิ้งแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งลูกทำได้ก็เป็นหนึ่งใน SE ที่มีความพร้อมเข้าเกณฑ์การให้การสนับสนุนของ NIA
คุณคุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “‘ลูกทำได้’ เป็นหนึ่งใน SE ที่ NIA ให้ความสนใจมาแต่แรก เนื่องจากตอบโจทย์ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นกระแสสังคมอยู่ในปัจจุบัน ผ่านการเอื้อโอกาสให้ผู้ปกครองสามารถติดตามพัฒนาการของลูกน้อยได้ผ่านเครื่องมืออย่างสมาร์ทโฟน ดีกว่าการต้องเข้าพบแพทย์เพียงอย่างเดียว ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงสำหรับบางครอบครัว และยังต่อยอดไปเป็นแพ็กเกจกิจกรรม ‘30 วัน 30 โปรแกรม’ ที่จะเป็นเครื่องมือช่วยเหลือผู้ปกครองในการเล่นกับลูก เพื่อให้ในทุกการเล่นช่วยสร้างความสุขและส่งเสริมพัฒนาการของลูก ภายใต้แนวคิด PERMA Model ที่จะเพิ่มความยั่งยืนทางธุรกิจ โดย NIA คาดหวังให้ผู้ประกอบการ SE รุ่นใหม่ๆ ได้เข้ามาเรียนรู้กระบวนการคิดและการดำเนินงานให้ได้ผลลัพธ์ในระดับเดียวกันนี้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ของเรา เพื่อร่วมกันเดินหน้าสร้างสังคมแห่งความยั่งยืนด้วยธุรกิจเพื่อสังคม”
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เล็งเห็นศักยภาพของ ‘ลูกทำได้’ และมองเห็นแนวทางที่จะนำ ‘ลูกทำได้’ เข้ามาสู่การสร้างเครือข่าย (Networking) การให้บริการประชาชนร่วมกับกรุงเทพมหานคร
คุณณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “สสส. มีภารกิจหลักในการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนในประเทศไทย การสนับสนุนของเราจึงมองไปยัง SE ที่มีจุดมุ่งหมายในเรื่องคล้ายคลึงกัน และนำเรื่องผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมเป็นที่ตั้งมากกว่ารายได้ สำหรับ ‘ลูกทำได้’ ก็เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่เราเล็งเห็นแนวทางการนำไปต่อยอดสู่การสร้างเครือข่าย (Networking) กับกรุงเทพมหานคร ในการให้บริการแก่ประชาชนชาวไทย รวมถึงแรงงานต่างชาติ และผู้อพยพที่เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก เพราะขอบข่ายการให้บริการของลูกทำได้มีความเป็นลูกผสมระหว่างความเป็นบริการทางออนไลน์ (Digital Service) และการสร้างความรู้โดยใช้ทักษะเป็นฐาน(Skill Based Learning) เพื่อเสริมศักยภาพพ่อแม่ในการเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก ทั้งนี้ นับเป็นการตอกย้ำว่า SE ควรสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้กับสังคมโดยไม่เลือกปฏิบัติ สามารถเห็นผลการดำเนินงานได้จริงและต่อยอดไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิมได้ในอนาคตอีกด้วย”
โครงการ “พลังการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” กับการสร้างผู้ประกอบการ SE คุณภาพ และการเชื่อมโยงเครือข่าย SE
บ้านปู และ ChangeFusion ได้ร่วมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SE มาอย่างต่อเนื่องเข้าปีที่ 12 ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา BC4C ได้บ่มเพาะกิจการเพื่อสังคมรวมแล้ว 110 ราย โดยมองว่าส่วนหนึ่งของความสำเร็จของกิจการเพื่อสังคมคือการได้ขยายผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง โดยการจะทำเช่นนั้นได้ส่วนสำคัญคือต้องมี SE Ecosystem และเครือข่าย SE ที่แข็งแกร่ง
นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บ้านปูและ ChangeFusion สามารถช่วยติดอาวุธความรู้ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SE ให้มีคุณภาพ แต่เราเพียงลำพังคงไม่สามารถพลักดัน SE ให้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างได้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือกับเครือข่าย SE ทั้งที่เป็นแหล่งเงินทุนหรือกลุ่มลูกค้าของ SE ดังนั้น ในปีนี้ BC4C จึงมีกิจกรรมที่ช่วยขยายเครือข่าย SE ให้เพิ่มขึ้น เช่น กิจกรรมผู้ประกอบการพบนักลงทุน ซึ่งจัดปีที่แล้วเป็นปีแรก และกิจกรรม “สร้างเครือข่ายขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคม (BC4C Impact Network)” ที่เพิ่มขึ้นมาในปีนี้ เพื่อผลักดันความร่วมมือผู้ประกอบการ นักลงทุน พันธมิตรผู้สนับสนุน SE ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม และเพื่อสร้างโอกาสให้ SE สามารถขยายผลได้เหมือน ‘ลูกทำได้’”
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon