บลจ.อีสท์สปริง เปิดทิศทางการลงทุนไตรมาส 2 มองตลาดหุ้นจีน เอเชีย สหรัฐฯ เริ่มเป็นบวก ชี้หุ้นกลุ่มเทคฯ -กลุ่มเติบโต ยังไปต่อหลังทำผลงานโดดเด่นจากไตรมาสแรก

74

มิติหุ้น – นางสาวดารบุษป์ ปภาพจน์  กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ บลจ.อีสท์สปริง เปิดเผยว่า  ตามที่บลจ.อีสท์สปริงได้มีการประเมินไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า อาจเห็นการสับเปลี่ยนของผลการดำเนินงานการลงทุนทั้งในระดับกลุ่มประเทศและกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จีน ยุโรป ที่ทำผลตอบแทนค่อนข้างน่าผิดหวังในปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าเป็นไปตามคาด โดยหลังจบไตรมาส 1 ของปี 2566 กลุ่มประเทศเหล่านี้กลับสามารถสร้างผลตอบแทนที่ค่อนข้างโดดเด่น โดย S&P500   ทำได้ 7.03%, STOXX600 ทำได้ 7.75% ,CSI300 ทำได้ 4.63% ขณะที่ผลตอบแทนตลาดหุ้นไทย อินเดีย อินโดนีเซีย ซึ่งปีที่แล้วสามารถสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้ต่างพากันติดลบ SET -3.57% , SENSEX -3.04% และ JCI -0.66% (ข้อมูล  Bloomberg : ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566)

ทั้งนี้ ดัชนีรายอุตสาหกรรมของ S&P500 ค่อนข้างกลับทิศจากปีที่แล้วอย่างชัดเจน ซึ่งในปีที่ผ่านมากลุ่มเทคโนโลยีเป็นกลุ่มที่สร้างความผิดหวังและติดลบค่อนข้างมาก แต่หลังจบไตรมาสแรกของปีนี้กลุ่มเทคฯ สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุดเป็นอันดับ 1 ถือเป็นกลุ่มที่ทำผลตอบแทนดีที่สุดในกลุ่มเติบโต (Growth Theme) โดย 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ทำผลตอบแทนได้สูงสุดคือ กลุ่มเทคโนโลยี ทำได้ถึง 21.49% รองลงมาเป็นกลุ่มสื่อสารทำได้ 20.18% และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยทำได้ 15.76% และ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ทำผลตอบแทนได้น้อยสุดหลังจบไตรมาสแรกได้แก่ กลุ่มการเงิน -6.05% กลุ่มพลังงาน -5.57% กลุ่มสุขภาพ -4.72% (ข้อมูล  Bloomberg : ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566)

นางสาวดารบุษป์ กล่าวว่า สำหรับมุมมองในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ บลจ.อีสท์สปริง ยังเชื่อว่าจะยังเป็นภาพเดียวกันกับไตรมาสแรก ที่กลุ่มเทคฯและกลุ่มเติบโตจะสามารถทำผลตอบแทนได้น่าสนใจต่อเนื่อง ขณะที่ความผันผวนและความเปราะบางของตลาดการเงินยังคงเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลแก่การลงทุนอยู่ โดยประเมินว่าเรื่องของเงินเฟ้อจะค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นผลจากความไม่มั่นใจของประชาชนต่อเสถียรภาพของระบบการเงินที่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทั้ง SVB และ Credit Suisse ส่งผลให้ทางการต้องเข้ามาช่วยเหลือ และเริ่มเกิดปรากฎการณ์แห่ถอนเงินฝากเข้าไปลงทุนในกองทุนตลาดเงินมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกองทุนตลาดเงินในสหรัฐฯมีขนาดล่าสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566  (ข้อมูล Bloomberg) อยู่ที่ 5.19 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์และสูงกว่าช่วงโควิด ซึ่งอยู่ที่ 4.78 ล้านล้านดอลลาร์

จากประเด็นความไม่มั่นใจของประชาชน ซึ่งอาจส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงความเปราะบางของสถานการณ์ตลาดเงินอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไว้ที่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งจาก Dot Plot ล่าสุด Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้ง แต่สิ่งที่นักลงทุนมองต่างจาก Fed คือ สถานการณ์มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือ อาจถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งการใช้จ่ายที่อาจลดลง และ การตึงตัวของตลาดเงินที่ความไม่มั่นใจสูงขึ้น การระดมทุนยากขึ้นส่งผลให้นักลงทุนมองว่า Fed อาจจะต้องกลับลำแล้วมาลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

“เราประเมินว่าความผันผวนจากตลาดเงินจะยังคงอยู่แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เริ่มเห็นทางการของแต่ละประเทศเข้ามาแก้ปัญหาค่อนข้างรวดเร็วและไม่ปล่อยให้สถานการณ์บานปลาย ทำให้เราคาดว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงอาจยังไม่เกิดในปีนี้ จากการเข้ามาช่วยเหลือของทางการและการเปลี่ยนท่าทีของ Fed ที่อาจมีการกลับลำในการลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เพื่อเป็นการประคองเศรษฐกิจ” นางสาวดารบุษป์ กล่าวพร้อมเพิ่มเติมว่า

ในมิติของการลงทุนจะเห็นกลุ่มของ Value Theme ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะอ่อนไหวกับภาวะเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธนาคาร พลังงาน กลุ่มอุตสาหกรรม ในไตรมาสที่ 2 อาจเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจนขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว เงินเฟ้ออาจจะเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผลตอบแทนพันธบัตร(Yield) จะลดลงตาม ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนรวมถึง Fed เริ่มมองถึงการลดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ในมิตินี้กลุ่มที่จะได้ประโยชน์จาก Yield ที่ลดลงคือกลุ่มเทคฯ และกลุ่มเติบโต ขณะที่สินทรัพย์อย่างตราสารหนี้โลกที่เป็นกลุ่มของพันธบัตรรัฐบาลและกลุ่มของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีคุณภาพในระดับ Investment Grade(IG) ก็เป็นอีกสินทรัพย์ที่น่าสนใจในช่วงที่ Yield ปรับตัวลดลง แต่ยังคงต้องระวังกลุ่มของ High Yield (HY) ที่อาจมีความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระรวมถึงการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ

ขณะที่ภาพรวมของประเทศจีนและภูมิภาคอย่างเอเชียอาจได้รับประโยชน์จากพัฒนาการทางเศรษฐกิจของจีนที่ดีขึ้นเรื่อยๆรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้โดยภาพรวมในไตรมาสที่ 2 ธีมการลงทุนที่เราชื่นชอบ คือ ตลาดหุ้นจีน เอเชีย สหรัฐฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เรายังชอบต่อเนื่องและได้รับประโยชน์จาก Yield ที่ลดลงคือ กลุ่มเทคฯ และกลุ่มเติบโต ในส่วนของตราสารหนี้แนะนำลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศภาครัฐฯและเอกชนในระดับ Investment Grade (IG) และสินทรัพย์ที่ต้องระมัดระวังในช่วงไตรมาส 2 คือ กลุ่มที่เน้นภาคการผลิตและอ่อนไหวต่อวัฏจักรเศรษฐกิจ คือ กลุ่มธนาคาร พลังงาน อุตสาหกรรม และตราสารหนี้ที่เป็น High Yield (HY)

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่กำลังต้องการเก็งกำไรในทองคำอาจต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้น ถึงแม้ความไม่แน่นอนการลงทุนจะสูงในช่วงนี้ การลงทุนในทองคำถือเป็นตัวช่วยป้องกันความผันผวนที่อาจจะเกิด แต่ราคาทองคำในระดับปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่สูงซึ่งจุดสูงสุดของทองคำตลาดโลกคือ 2,051 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ซึ่งปัจจุบันราคาทองคำอยู่ที่ 1,969 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ (ข้อมูล  Bloomberg : ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566) ซึ่งต่ำกว่าจุดสูงสุดเดิมประมาณ 4% และหากในอนาคตทาง Fed มีการลดดอกเบี้ย หรือ กรณีเกิดเหตุความไม่แน่นอนและทางการเข้ามาช่วยเหลือเหตุการณ์ทันที ทองคำอาจมีการย่อตัวลง ดังนั้นสัดส่วนการลงทุนที่ทางเราแนะนำคือ ไม่เกิน 5% เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนในช่วงที่ตลาดผันผวน

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon