ฉายภาพกลุ่มหุ้น ได้ – เสีย นโยบายเลือกตั้ง

808

ย้อนเวลากลับไปปี 46 จนถึงปี 65 จะพบว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ไทยขาดงบดุลประมาณราว 6.6 ล้านลบ. เฉลี่ยปีละ 3.3 แสนลบ. ซึ่งเป็นต้นเหตุของหนี้สาธารณะ ที่มีอยู่ประมาณ 10.7 ล้านลบ. การนำเงินมาใช้ล้วนคาดหวังให้ตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) โตขึ้น แต่หากลองแบ่งการเติบโตของ GDP ออกเป็น 2 ช่วง จะพบว่าช่วง 10 ปีแรก GDP โตเฉลี่ย 7.9% ขณะที่10 ปีหลัง โตเฉลี่ย 3.5% ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผลมาจากการใช้งบประมาณที่ไม่เกิดประสิทธิภาพ ทำให้ GDP ไม่โตเท่าที่ควร

 

งบประมาณหลังหาเสียง คาดใช้ได้ 9.3 หมื่นลบ.

ทั้งนี้งบประมาณ ปี 67 จะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค.66 – 30 ก.ย.67 ปัจจุบันงบที่ใช้อยู่คืองบ ปี 66 และจะจบสิ้นเดือนก.ย.66 ขณะที่ไทยเป็นช่วงการเลือกตั้ง ในวันที่ 14 พ.ค.66 ตามกระบวนการคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จะรับรองผลให้ครบ 95% ภายใน 60 วันหรือเดือน ก.ค.66 คาดจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาในการโหวตเลือกนายกช่วงเดือน ส.ค.66 กว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้าจัดการงบ ปี 67 คาดจะแล้วเสร็จช่วง Q1/67 เริ่มช้ากว่าปีงบประมาณปกติ ประมาณ 4-5 เดือน

ทางด้าน นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส ได้ประเมินยอดรวมงบประมาณทั้งประเทศปี 67 อยู่ที่ 3.35 ล้านลบ. แต่งบส่วนใหญ่ได้ถูกกำหนดการใช้จ่ายไว้แล้ว ทำให้งบที่รัฐบาลชุดใหม่ใช้จริงตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน มีเพียง 9.3 หมื่นลบ. นโยบายหาเสียงเท่าที่เห็นสามารถจัดแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ การใช้เงินผ่านบัตรสวัสดิการรัฐ ,การเติมเงินเข้า E wallet ,การพักชำระหนี้ และการขึ้นค่าแรง

 

เปิดกลุ่มหุ้น ได้ – เสีย นโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง

กลุ่มบัตรสวัสดิการรัฐ นโยบายจากพรรคพลังประชารัฐ ในการเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาท/เดือน งบที่ใช้ 1.8 แสนลบ./ปี จำนวนประชากรที่ได้รับประโยชน์ 21.45 ล้านคน และนโยบายจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการเพิ่มบัตรสวัสดิการพลัส 1,000 บาท/เดือน งบที่ใช้ 2.57 แสนลบ./ปี จำนวนประชากรที่ได้รับประโยชน์ 21.45 ล้านคน โดยคาดกลุ่มที่จะได้ประโยชน์ ได้แก่ ค้าปลีก สินค้าอุปโภค-บริโภค อาหาร เช่าซื้อ

กลุ่มเติมเงินเข้า E wallet นโยบายของพรรคเพื่อไทย ในการเติมเงิน E wallet จำนวน 10,000 บาท งบที่ใช้ 5.4 แสนลบ./ปี จำนวนประชากรที่ได้รับประโยชน์ 54 ล้านคน โดยคาดกลุ่มที่จะได้ประโยชน์ได้แก่ ค้าปลีก สินค้าอุปโภค-บริโภค อาหาร ท่องเที่ยว

กลุ่มพักชำระหนี้ นโยบายพรรคภูมิใจไทย ในการพักหนี้ 3 ปี หยุดต้น-หยุดดอก และนโยบายของพรรคชาติพัฒนากล้า ในการยกเลิกแบล็กลิสต์ รื้อระบบสินเชื่อไทย คาดว่าไม่มีการใช้งบประมาณในส่วนนี้ เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เช่าชื้อ

กลุ่มค่าแรง ของนโยบายพรรคเพื่อไทย ในการเพิ่มค่าแรง 600 บาท งบที่ใช้ราว 1.18 แสนลบ. หรือคิดเป็น 0.7% ของ GDP ต่อปี จำนวนประชากรที่ได้รับประโยชน์ 40 ล้านคน และนโยบายพรรคก้าวไกล ในการเพิ่มค่าแรงทุกปี เริ่มต้น 450 บาท งบที่ใช้ 4.6 หมื่นลบ. หรือคิดเป็น 0.26% ของ GDP ต่อปี จำนวนประชากรที่ได้รับประโยชน์ 40 ล้านคน

กลุ่มที่จะได้ประโยชน์ ได้แก่ การแพทย์ ไฟแนนซ์ ท่องเที่ยว แต่ทั้งนี้งบที่ใช้เป็นของบริษัทจดทะเบียน ไม่ได้เกี่ยวกับงบกลางของรัฐ เป็นลบต่อกลุ่มที่มีการจ้างใช้แรงงานเป็นหลัก ได้แก่ รับเหมาก่อสร้าง เกษตร-อาหาร อสังหาทรัพย์ ชิ้นส่วน

 

นายเทิดศักดิ์ กล่าวต่อ จากนโยบายต่างๆ งบที่มีอยู่คงไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ อาจจำเป็นที่จะต้องกู้เงินเพิ่ม แต่การไปกู้เพิ่มจะต้องดูจากกรอบวินัยกระทรวงการคลัง โดยช่วงก่อนโควิด-19 กำหนดให้มีหนี้สาธารณะไม่เกิน 60% ต่อ GDP และได้ขยายเพิ่มเป็น 70% ทั้งนี้ GDP ไทยเดือนก.พ.66 มีขนาดอยู่ที่ประมาณ 17.5 ล้านลบ. มีหนี้สาธารณะ 61.13% คิดเป็น 10.7 ล้านลบ.

หากต้องการกู้ให้เต็มเพดาน 70% จะสามารถกู้เพิ่มได้อีก ราว 1.55 ล้านลบ. แต่มีความจำเป็นที่ต้องกู้เยอะขนาดนี้ไหม จากนโยบายส่วนใหญ่ที่เน้นอีดฉีดเงินเข้ากระเป๋าประชาชนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย หากทำการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ถ้าทำไม่สำเร็จ จะกลายมาเป็นภาระหนี้ที่หนักหนาและเป็นสิ่งที่ต้องระวัง จึงมองว่าหากมีความจำเป็นที่ต้องกู้ควรนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในอนาคตจะเหมาะสมมากกว่า

 

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon