เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ราคาหุ้นในกลุ่ม ปตท. เกิดปรับตัวลงแรง ตอบรับข่าวราคาน้ำมันหดตัวลง รวมถึงถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรียกเก็บเงิน Shortfall จำนวน 4,300 ล้านบาท จากสาเหตุการขาดส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 ทั้งนี้ ทาง กกพ. อยู่ระหว่างรอหนังสือตอบกลับจาก PTT ซึ่งทาง PTT มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้
สำหรับ ราคาหุ้นในกลุ่ม ปตท. ที่ปรับตัวลง นำโดย “บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT” ปรับลดลง 1.61% มาอยู่ที่ 30.50 บาท, “บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP” ปรับตัวลดลง 2.02% มาอยู่ที่ 145.50 บาท, “บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR” ปรับตัวลดลง 0.45% มาอยู่ที่ 22.20 บาท
ตามมาด้วย “บริษัท ปตท. โกลบอล คอนเน็คชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GC” ปรับตัวลดลง 0.98% มาอยู่ที่ 5.05 บาท, “บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP” ปรับตัวลดลง 1.60% มาอยู่ที่ 46.25 บาท และสุดท้าย “บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC” ปรับตัวลดลง 1.68% มาอยู่ที่ 2.34 บาท
ด้าน บล.ไอร่า ระบุถึงปัญหากดดันราคาหุ้นพลังงานในวันนี้ (3 พฤษภาคม 2566) ว่า ราคาสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ส่งมอบเดือน มิถุนายน 2566 เมื่อคืนนี้ (2 พฤษภาคม 2566) ปรับตัวลงแรง 4.00 ดอลลาร์ ปิดที่ระดับ 71.66 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือลดลง 5.29% โดยได้รับแรงกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสเผชิญภาวะถดถอยจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงต่อไป
อีกทั้ง คาดว่ายังคงกังวลต่อการเกิด Government Shutdown หากวุฒิสภาสหรัฐฯ ไม่ปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ภายในสิ้นเดือนนี้ คาดจะกดดันทิศทางราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานซึ่งมีสัดส่วนเป็นน้ำหนักมากที่สุดของตลาดหุ้นไทยกดดันทิศทางตลาดได้ต่อ
PTTแจงในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ
“วุฒิกร สติฐิต” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ PTT กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาของวิกฤตโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการผลิตพลังงานในตลาดโลก กลุ่ม ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติได้ร่วมแก้ไข และบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงรองรับปริมาณความต้องการของทั้งประเทศ และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม เป็นจำนวนเงินรวมกว่า 20,000 ล้านบาท (การช่วยเหลือระหว่างปี 2563 – 2565) เช่น การสำรองน้ำมัน 4 ล้านบาร์เรล, การตรึงราคา NGV, การช่วยเหลือราคา LPG แก่หาบเร่-แผงลอย ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในกรณีการพาดพิงการดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ที่จำหน่ายให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในราคาถูกกว่าโรงไฟฟ้า เป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งอาจเกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อน
เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ใช้ต้นทุนราคาเนื้อก๊าซเดียวกัน สำหรับในส่วนที่ต้องจัดหาเชื้อเพลิง เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า หรือวัตถุดิบเพิ่มเติมในแต่ละผลิตภัณฑ์ จะเป็นไปตามปัจจัยสถานการณ์ตลาดพลังงานโลก และตลาดของผลิตภัณฑ์นั้นๆ
ขณะที่ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ดำเนินการมากว่า 40 ปี นั้น มีปริมาณสำรอง และปริมาณการผลิตลดลง ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้จำเป็นต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน และนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก
พร้อมกันนี้ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมหลักในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดย กลุ่ม ปตท. ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับก๊าซธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแทนการนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว รวมถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก่อให้เกิดการจ้างงาน, ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ รวมถึงเป็นฐานการผลิต เพื่อส่งออกให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ในประเทศมาจนถึงปัจจุบัน โดยสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 10 – 25 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาทต่อปี
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon