PTT สถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์วันที่ 5-9 มิ.ย. 66 และแนวโน้มสัปดาห์วันที่ 12-16 มิ.ย. 66

121

มิติหุ้น – ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันของจีน โดยหน่วยงานศุลกากรของจีนรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบเดือน พ.ค. 66 เพิ่มขึ้น 17.4% จากเดือนก่อน อยู่ที่ 12.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรองรับเทศกาล Dragon Boat Festival ในวันที่ 22-24 มิ.ย. 66 ประกอบกับกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ จัดหาน้ำมันดิบเข้าคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ปริมาณรวม 3.1 ล้านบาร์เรล ส่งมอบในเดือน ส.ค. 66 ที่ราคาเฉลี่ย 73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าราคาเฉลี่ยที่ขายไปในปี 2565 ที่ระดับ 95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดี สำนักสถิติแห่งชาติของจีนรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index: PPI) ของจีน ในเดือน พ.ค. 66 อยู่ที่ – 4.6% จากปีก่อน หดตัวติดต่อกัน 8 เดือนและต่ำสุดในรอบ 7 ปี บ่งชี้เศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากอุปสงค์สินค้าในตลาดส่งออกหลัก เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ชะลอตัวหลังประสบปัญหาเงินเฟ้อทำให้ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

วาณิชธนกิจ Goldman Sachs ปรับลดประมาณการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เดือน ธ.ค. 66 จากเดิม 95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และปรับลดประมาณการณ์ ICE Brent เฉลี่ยปี 2566 จากเดิม 88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล มาอยู่ที่ 82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากความวิตกต่อภาวะเศรษฐกิจที่อาจถดถอย จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • รมว. กระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย เจ้าชาย Abdulaziz bin Salman Al Saud ประกาศซาอุดีอาระเบียจะลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโดยสมัครใจอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. 66 คาดว่าปริมาณการผลิตในเดือน ก.ค. 66 อยู่ที่ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากในเดือน มิ.ย. 66 อยู่ที่ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน และวันที่ มิ.ย. 66 ที่ประชุม OPEC+ มีมติขยายเวลาข้อตกลงลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปี 2566 ออกไปถึงสิ้นปี 2567
  • ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ นาย Joe Biden ลงนามออกกฎหมายขยายเพดานหนี้ (ปัจจุบันที่ 31.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยสมบูรณ์แล้วเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 66 ทำให้สหรัฐฯ สามารถกลับมากู้ได้ถึงวันที่ 1 ม.ค. 68
  • รายงานฉบับเดือน มิ.ย. 66 ของ EIA คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้น 1.59 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อน อยู่ที่ 101.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มจากคาดการณ์ครั้งก่อน 20,000 บาร์เรลต่อวัน)

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • Institute for Supply Management (ISM) ของสหรัฐฯ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Non-Manufacturing Purchasing Managers’ Index: PMI) ในเดือน พ.ค. 66 ลดลงจากเดือนก่อน 1.6 จุด อยู่ที่ 50.3 จุด ทั้งนี้ ดัชนีสูงกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะขยายตัว อนึ่ง ภาคบริการในสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของ GDP
  • Eurostat รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของยูโรโซน (20 ประเทศ) ไตรมาส 1/66 (ประมาณการณ์ครั้งที่ 3) อยู่ที่ –0.1% จากไตรมาสก่อน (ประมาณการครั้งก่อนอยู่ที่ +0.1% จากไตรมาสก่อนทั้งนี้ หดตัวต่อเนื่อง ไตรมาส เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession)

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon