STARK บทเรียนที่เจ็บแสบ ตามล่า “ชนินทร์ เย็นสุดใจ”

21574

มิติหุ้น- สิ้นสุดการรอคอย… STARK หรือ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น แจ้งงบปี 65 ขาดทุนหนัก 6.6 พันลบ. และแก้งบปี 64 ขาดทุน 5.9 พันลบ. จากเดิมแจ้งว่ากำไร 2.7 พันลบ.   ขณะที่ส่วนผู้ถือหุ้นรวมติดลบ 4.4 พันลบ. ขาดทุนสะสม 1 หมื่นลบ. เรียกได้เต็มปากว่า “ล้มละลาย”

ต้นตอของปัญหา.. ว่ากันว่าเกิดจากรับผลกระทบจากความผันผวนของราคาทองแดงร่วงแรงรับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้สร้างความเสียหายให้กับ STARK  กลายเป็นที่มาของการสร้างออเดอร์ปลอม สต็อกปลอม และกำไรปลอม เพื่อจะได้สร้างStory ด้านการลงทุน ทั้งเพิ่มทุน ออกหุ้นกู้ ตามมา

“ขณะนี้ต้องแยกกันระหว่างผู้บริหารกับผู้ถือหุ้น ในส่วนของผู้บริหารชุดเดิม เขาเก่งเรื่องหุ้น แต่ค้าขายไม่เก่ง แต่พอราคาทองแดงมันผันผวน กระทบกำไร เกิดการแต่งบัญชีขึ้นมา สร้างออเดอร์ปลอม  สต็อกปลอม โดยที่เจ้าของหุ้นรู้หรือไม่รู้ อันนี้เราก็ไม่รู้ ต้องไปดูว่าเขาขายหุ้นออกไปหรือยัง”

 

นั่นจึงเป็นที่มาของการตามหาตัว “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ในฐานะประธานกรรมการ ของ STARK  แม้จะชิงยื่นหนังสือลาออกไปตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.66  แต่เป็นผู้กำหนดเกม ลากให้ STARK มายืน ณ จุดนี้ ทั้งแผนธุรกิจ แผนขายหุ้นเพิ่มทุน ออกหุ้นกู้

ปฏิเสธความรับผิดชอบได้ยาก ในฐานะ “ประธานกรรมการ” ของ STARK ในขณะนั้น

                             แต่ขณะนี้ “ชนินทร์”  “ไม่หนี ไม่หาย แต่ไม่พบ”

ความผิดที่เห็นเด่นชัดกับกรณีของ STRAK ขณะนี้ คือการแต่งบัญชี และฉ้อโกง ส่วนจะมีเรื่องการไซฟ่อนเงินออกไปหรือไม่อย่างไรนั้น  เป็นเรื่องที่ก.ล.ต. และ DSI ต้องไปตรวจสอบเชิงลึกต่อไป

แต่สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือ ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ความเสียหายของSTARK เรียกว่าสร้างความบรรลัยทุกย่อมหญ้า ลากทั้งตลาดหุ้น ตลาดหุ้นกู้ เสียหายย่อยยับ จัดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก ผู้ถือหุ้น

กลุ่มที่สอง ผู้ถือหุ้นกู้ ของ STARK

กลุ่มที่สาม ผู้ถือหน่วยลงทุน ในบลจ.ที่ลงทุนหุ้นกู้ STARK

สิ่งที่จะทำได้ในขณะนี้คือการรวมตัวกันฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา ในส่วนของผู้ถือหุ้น สามารถฟ้องได้โดยตรง แต่ในส่วนของผู้ถือหุ้นกู้ และผู้ถือหน่วยลงทุน อาจต้องให้ผู้แทนหุ้นกู้และบลจ. เป็นผู้ดำเนินการ

ผู้เสียหายกรณี STARK เกิดขึ้นจำนวนมาก สามารถรวมกันฟ้องแบบกลุ่มได้ เรียกว่า  “Class Action” หรือ ระบบคดีแบบกลุ่ม เป็นกระบวนการดำเนินคดีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เนื่องจากสามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ในการดำเนินคดีเพียงครั้งเดียว และอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่มีความสามารถฟ้องคดี การดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นวิธีการที่ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดีและป้องกันการขัดแย้งกันของคำพิพากษาสามารถนำมาใช้กับคดีแพ่งต่าง ๆ ที่มีผู้เสียหายจำนวนมากได้ รวมถึงคดีฉ้อโกงในธุรกิจหลักทรัพย์ที่ผู้ประกอบการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

 “ขณะนี้ความเสียหายเกิดขึ้นแล้วอาจต้องเร่งดำเนินการฟ้องอาญาก่อนเพื่อล็อกความเสียหาย เพื่อจะได้รีบนำคนผิดมาดำเนินคดี ควบคู่ไปกับการฟ้องแพ่ง ซึ่งในส่วนของคดีอาญาทางDSI และก.ล.ต. กำลังเร่งดำเนินการในส่วนนี้อยู่”

 บทเรียนราคาแสนแพง
เรื่อง MORE เพิ่งเกิดไม่นาน แผลยังไม่ทันหาย เกิดSTARK มาซ้ำซ้อนขึ้นอีก แต่เคสนี้ทำได้แนบเนียนกว่า เพราะ STARK เป็นหุ้นที่ถูกจัดอยู่ใน SET 100 ขณะที่หุ้นกู้ได้รับการจัดอันดับระดับ Investment Grade  “BBB+” จาก “ทริส เรทติ้ง” เสียด้วย เกิดแบบนี้บ่อย ๆ รายย่อยรับไม่ไหวนะขอรับ

 

 

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/

Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon

Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770

Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon