กลุ่มเจมาร์ท มั่นใจผ่านจุดต่ำสุดใน Q2/66 มาแล้ว ชูธุรกิจบริหารหนี้ JMT เป็นหัวหอกทำกำไร พร้อมด้วยสตอรี่ใหม่ๆ จาก JAS ASSET – Jaymart Mobile – สุกี้ตี๋น้อย ที่จะเป็น Growth Driver ให้เจมาร์ทในครึ่งปีหลัง โดยมี J Ventures เสริมทัพเทคโนโลยี เดินแผน Virtual Bank ด้าน SINGER – SGC พยายามแก้ปัญหา ควบคุมต้นทุน มั่นใจ ผ่านวิกฤติจะแข็งแกร่งกว่าเดิม โดย JMART ลั่นเป้าท้าทายปี 2567 จะกลับมาทำ All Time High อีกครั้ง
นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (JMART) เปิดเผยถึง ภาพรวมโครงสร้างกลุ่มบริษัทในครึ่งปีแรก 2566 มั่นใจยังคงแข็งแกร่ง เราให้ความสำคัญในการปรับกลยุทธ์ และแก้ปัญหา เพื่อให้ผลการดำเนินงานเดินหน้าต่อ และมั่นใจว่า หลังจากที่วิกฤติใหญ่ครั้งนี้ผ่านไป เราจะกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิมได้ พร้อมตั้งเป้าปี 2567 JMART จะกลับมาทำ All Time High ได้อีกครั้ง
มองแนวโน้มไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้ มั่นใจธุรกิจบริหารหนี้ภายใต้การบริหารของ JMT จะยังเป็นหัวหอกในการสร้างกำไร และเติบโตกว่าที่คิด ขณะที่ เจมาร์ท โมบาย ในช่วงครึ่งปีหลังเป็นไฮซีซั่น ในด้านธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ JAS ASSET จะมีการทยอยเปิดสาขาใหม่ 2 สาขา ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 รวมทั้ง การพัฒนาโครงการใหม่ต่อเนื่อง และบุกธุรกิจด้านสุขภาพ ดูแลผู้สูงอายุ จับเมกะเทรนด์ ขณะที่ สุกี้ตี๋น้อย เป็นผลผลิตที่เราเข้าไปลงทุนและสามารถสร้างกำไรกลับมาให้ JMART อย่างมีประสิทธิภาพ เราถือสัดส่วนการลงทุนในสุกี้ตี๋น้อย สูงถึง 30% โดยในไตรมาส 2/2566 มีกำไร 212 ล้านบาท ครึ่งปีแรกมีกำไร 421 ล้านบาท โตสูงและใกล้เคียงปี 2565 ที่มีกำไรราว 500 กว่าล้านบาท เราจึงมองสิ้นปีเป้าหมายกำไร 800 ล้านบาทไม่ไกลเกินเอื้อม โดยในเดือน ก.ค.สุกี้ตี๋น้อยมีจำนวน 48 สาขา ตั้งเป้าสิ้นปีจะมีประมาณ 60 สาขา ขยายไปยังหัวเมืองใหญ่ และการ Synergy ไปกับ JAS ASSET เพิ่มยอดขาย เพิ่มกำไร และเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยมูลค่าที่ดี ซึ่งบริษัทในกลุ่มเหล่านี้ เป็น Growth Driver ให้ JMART ในครึ่งปีหลัง และน่าจะเห็นตัวเลขที่สูงขึ้น สนับสนุนกำไรส่วนใหญ่เข้ามาให้เจมาร์ทอย่างแข็งแรง
อย่างไรก็ดี ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เจมาร์ทประกาศมีผลขาดทุน 611 ล้านบาท เป็นจุดต่ำสุดของปี ได้รับผลกระทบจากการตั้งสำรองลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในกลุ่มบริษัท SINGER พร้อมย้ำผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และยืนยันทำธุรกิจถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อต้องการเห็นคุณภาพของกลุ่มบริษัท ด้วยการบริหารงานบนหลักธรรมาภิบาลที่ดี
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT) เปิดเผย ผลงานไตรมาส 2/2566 และครึ่งปีแรก มี 3 คีย์ไฮไลท์ คือ ผลงานเติบโตกำไรในไตรมาส 2/2566 ทุบสถิติรายไตรมาสได้อีกครั้ง โดยมีกำไรสุทธิ 551 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.2% คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 44.1% ขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ 1,249.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 14.8% สนับสนุนให้ JMT เป็นผู้นำอันดับหนึ่งด้านพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกัน พร้อมกับ การมี Ecosystem ที่แข็งแรง ได้รับความไว้วางใจจากพันธมิตรสถาบันการเงิน มีกลุ่ม KBank เป็นพาร์ทเนอร์ เพิ่มความแข็งแกร่ง
โดยครึ่งปีแรกที่ผ่านมา JMT พร้อมทุกขุมกำลังในการเดินหน้าทุกธุรกิจ โดยครึ่งปีแรกใช้งบลงทุนซื้อหนี้ด้อยคุณภาพไปแล้ว 4,126 ล้านบาท มีพอร์ตบริหารหนี้ด้อยคุณภาพรวมอยู่ที่ 468,530 ล้านบาท (รวม JK AMC) เพิ่มขึ้นจากปลายปีที่แล้วมากกว่า 1 แสนล้านบาท สะท้อนสตอรี่การซื้อหนี้ปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน ขณะที่ การบริหารการจัดเก็บพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพทำได้ดีเยี่ยม ครึ่งปีแรกมีกระแสเงินสดเข้ามาแล้ว 4,243 ล้านบาท ดังนั้น สิ้นปีนี้ที่วางไว้ว่าจะมีกระแสเงินสดขึ้นไปแตะที่ระดับ 9,000 ล้านบาท มองว่าจะสามารถทำได้ตามนั้น เป็นอีกปัจจัยสะท้อนภาพรวมธุรกิจของ JMT มีเสถียรภาพ และมั่นใจครึ่งปีหลังผลงานยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี มีโอกาสในการลงทุนซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารต่อเนื่อง ย้ำเป้ากำไรสุทธิเติบโต 30% จากปีก่อนตามที่วางไว้
“ไฮไลท์ครึ่งปีแรก JMT ซื้อหนี้ก้อนใหญ่เข้ามาบริหารมูลค่าราว 60,000 ล้านบาท ซึ่งหนี้ดังกล่าวเริ่มทำงานแล้ว เป็นฐานในการสร้างรายได้ในครึ่งปีหลังและในอนาคต ขณะที่ ประเมินสภาพตลาดหนี้ที่ JMT ซื้อเข้ามาโดยปกติประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี แต่ปีนี้มองว่าจะเยอะกว่าปกติ และนับตั้งแต่จัดตั้งบริษัททร่วมทุน JK AMC ทำให้พอร์ตเรามีขนาดไซส์ใหญ่ขึ้น เสมือนเราได้ Backlog ตุนล่วงหน้ามา 3 – 5 ปี เพิ่มความแข็งแกร่งของผลการดำเนินงานในอนาคต” นายสุทธิรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย
นายสุพจน์ สิริกุลภัสสร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) (J) เปิดเผย ปีนี้ตั้งเป้าทำนิวไฮ โตไม่ต่ำกว่า 30% แม้ไตรมาส 2/2566 เป็นช่วง Low Season แต่ครึ่งปีหลังคืนฟอร์มกลับสู่ภาวะปกติ จากอัตราพื้นที่เช่าโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อยู่ในระดับสูงกว่า 90% รวมถึง การเปิดศูนย์การค้าใหม่ที่ Jas Green Village บางบัวทอง (วัดลาดปลาดุก) ที่คาดจะเปิดไตรมาส 3/2566 และ Jas Green Village รามคำแหง ที่จะเปิดในช่วงเร็วๆ นี้ โดยทั้ง 2 โครงการรูปแบบมิกซ์ยูส หวังสร้างรายได้ระยะยาว สนับสนุนเจเอเอส แอสเซ็ท มี 7 โครงการในสิ้นปี และอยู่ระหว่างพัฒนาที่ดิน ตอกเสาเข็มที่โครงการประเวศน์ คาดเปิดในไตรมาส 2/2567 พร้อมกับแผนบุกโครงการศูนย์การค้าชุมชนในหัวเมืองต่างจังหวัด อย่างขอนแก่น ซึ่งจะเป็นมิกซ์ยูสห้างและโรงแรม เป็นแผนการขยายศูนย์การค้าในปี 2567 – 2568 ต่อไป
สำหรับภาพรวมการขยายธุรกิจด้านสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ ในโครงการบ้านพักผู้สูงอายุ ภายใต้แบรนด์ “Senera Senior Wellness” เปิดให้บริการเต็มรูปแบบเมื่อเดือนเมษายน ที่ Jas Green Village คู้บอน และคาดในเดือนธันวาคมจะเปิดให้บริการที่ Jas Green Village บางบัวทอง มุ่งหวังเป็นหนึ่งในบ้านพักผู้สูงอายุที่ดีที่สุด สร้างรายได้และกำไรกลับมาที่บริษัทฯ ได้อย่างแข็งแกร่ง พร้อมกับแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค นอกจากนี้ เรายังเดินหน้าผนึกกำลังกับพาร์ทเนอร์ ทั้งจากสุกี้ตี๋น้อย เป็นพันธมิตรในการขยายศูนย์การค้าออกไปในภูมิภาคต่างๆ และ บมจ.บางกอก เดค-คอน (BKD) ผนึกกำลังเปิดตัวแบรนด์ “JBS – Senior Smart Living” นำเสนอบริการปรับปรุงบ้าน เพื่อผู้สูงวัยและครอบครัว โดยมี บมจ.เอสจี แคปปิตอล (SGC) ให้บริการด้านสินเชื่อ นอกจากนี้ ยังรอฟังข่าวดีปลายปี ในการจับมือพาร์ทเนอร์กลุ่มโรงพยาบาล หรือ ประกัน เพิ่มพลัง Ecosystem ได้อย่างแข็งแกร่ง
นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) เปิดเผยว่า JVC เริ่มสร้างกำไรกลับมาต่อเนื่อง โดยในงวดครึ่งปีแรก 2566 ทำได้ที่ 25.24 ล้านบาท จากเป้าทั้งปี 28 ล้านบาท และมีการพัฒนาโปรเจกต์ใหม่ๆ มีการพัฒนา JFIN Chain และแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ลงทุนสร้างขึ้นมา เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทรานฟอร์มกลุ่มบริษัทเจมาร์ทในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น อาทิ การสนับสนุนธุรกิจ JMT ในการทำแพลตฟอร์มชำระเงิน รวมทั้ง เทคโนโลยีที่เข้าไปเสริมโครงการบ้านผู้สูงอายุของ JAS ASSET นอกจากนี้ เราใช้ NFT กับสุกี้ ตี๋น้อย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สร้างพลัง Digital Synergy และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการเดินหน้าผลักดันให้ JMART มุ่งสู่ Virtual Banking เป็นอีกอนาคตใหม่ของเจมาร์ท สอดรับไปกับแผนของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะประกาศออกมา มั่นใจเราพร้อมกว่าใคร เพราะในช่วงที่ผ่านมา เราทำ Pah Digital Lending และ Business Co-Creation ในการปล่อยกู้สินค้าร่วมกับพาร์ทเนอร์ พร้อมสนับสนุนฐานกำไร JMART ให้แข็งแกร่งในอนาคต
นายดุสิต สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด (JAYMART MOBILE) เปิดเผย ภาพรวมธุรกิจครึ่งปีหลัง จะเติบโตกว่าครึ่งปีแรก จากช่วงไฮซีซั่นสินค้าใหม่เปิดตัว โดยเฉพาะกลุ่มสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงที่คาดจะออกมากระตุ้นกำลังซื้อในไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ประกอบกับ สินค้ากลุ่มลำโพง และกลุ่ม Smart Watch เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำได้ดีในครึ่งปีแรกและคาดจะดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมองสินค้ากลุ่มแกดเจ็ตใหม่ๆ ที่จะนำเข้ามาสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคมากขึ้น และการขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ รุกตลาดสมาร์ททีวี เปิดตัวทีวีซัมซุงไฟแนนซ์พลัส สินเชื่อผ่อนชำระทีวีซัมซุง เพิ่มโอกาสในการสร้างฐานรายได้ในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ พร้อมกับบริการสินเชื่อเสริมทัพ อาทิ สินเชื่อจาก บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล (Kashjoy) จับมือ ไทยซัมซุง เปิดให้บริการซัมซุงไฟแนนซ์พลัส (Samsung Finance+) ได้รับการตอบรับเป็นอย่างมาก
สำหรับการเติบโตผ่านสาขา ซึ่งปัจจุบันมีช่องทางการจำหน่ายอยู่ที่ 301 สาขา คาดเปิดอีก 15 สาขาในครึ่งปีหลัง และยังคงผนึกกำลังสร้างการเติบโตผ่าน Synergy กับบริษัทในเครือ และช่องทางการขายใหม่ๆ จึงคาดว่าในปีนี้เจมาร์ท โมบายตั้งเป้ากำไรสุทธิเติบโตจากปีก่อนได้
นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGER) เปิดเผย ภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 2/2566 มาจากลูกหนี้ที่เข้าโครงการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มทยอยสิ้นสุดการได้รับความช่วยเหลือ ทำให้บริษัทตั้งสำรองหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นในบริษัทย่อย คือ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (SGC) รวมถึง การปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือ โดยเฉพาะตู้น้ำมัน ทำให้ SINGER ขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 2,396 ล้านบาท ขณะที่ รายได้รวม 796 ล้านบาท และส่งผลให้ครึ่งแรกปี 2566 กลุ่มบริษัทฯ มีขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 3,239 ล้านบาท จากยอดขายที่ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566
ย้ำความมั่นใจ เราไม่มีค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ และผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/2566 มาแล้ว พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหา เดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กร และควบคุมการอนุมัติสินเชื่ออย่างรอบคอบ และรัดกุมมากขึ้น คาดในไตรมาส 3/2566 ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารได้ 30% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2566 พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาสินค้าคงคลัง นำมาบริหารจัดการเพื่อสร้างรายได้ โดยเฉพาะ “ตู้น้ำมันหยอดเหรียญ” ที่ยึดคืน เกิดเป็นโมเดลธุรกิจ “ปั๊มตามใจ” ต่อยอดนำตู้น้ำมัน รวมทั้งสินค้าอื่นๆ ของซิงเกอร์ที่ยึดคืนจากลูกค้า เป็นสินค้ามือสอง กลับมาสร้างรายได้อีกครั้ง อาทิ ในเดือนมิถุนายนมีตู้น้ำมันคงเหลือราว 1,000 ตู้ ได้วางแผนไปติดตั้งที่จังหวัดต่างๆ จากเดือนมิถุนายนมี 61 ตู้ และในเดือนกรกฎาคมขยายตัวเป็น 162 ตู้ คาดไตรมาส 3 มี 500 ตู้ และไตรมาส 4 วางให้ครบ 1,000 ตู้ เป็นหนึ่งในภารกิจที่เราให้พยายามสร้างยอดขายกลับมาเติบโต และการลดค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง
มองทิศทางธุรกิจ The New SINGER ในครึ่งปีหลัง โฟกัส 5 New Business เพิ่มความสามารถในการขาย ประกอบด้วย การกลับมาอย่างแข็งแกร่งของธุรกิจ Hire Purchase by SINGER รวมทั้ง Retail Business โฟกัสช่องทางค้าปลีก และการปรับปรุงสาขา 100 แห่ง ในไตรมาส 3/2566 โฟกัสในทำเลที่ดี เพิ่มไลน์สินค้าใหม่เพิ่มฐานรายได้สินค้ากลุ่มใหม่ และช่องทางการขายแบบเงินสด หรือสินเชื่อจากบริษัทในเครือ
นอกจากนี้ การเพิ่มช่องทางการขายผ่าน SINGER Van โมเดลที่ขับรถไปพร้อมสินค้า และการอนุมัติสินเชื่อที่รวดเร็ว คาดมี 30 คันที่จะเห็นในไตรมาส 3 ปีนี้ รวมทั้ง การเพิ่มช่องทางกลุ่มลูกค้าใหม่ SMEs Loan และ Switch-off Program นำพันธมิตรในเครืออย่าง Kashjoy และ Samsung Finance+ เป็นอีกช่องทางให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินเชื่อที่หลากหลายขึ้น เพิ่มอัตราการขาย การเก็บเงินที่ มุ่งเน้นลด NPL ให้อยู่ในระดับต่ำลง นำมาซึ่งฐานะการเงินที่มีเสถียรภาพ
ด้าน นายอโณทัย ศรีเตียเพ็ชร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (SGC) บริษัทในกลุ่ม SINGER เปิดเผยภาพรวมไตรมาส 2/2566 บริษัทยังคงความสามารถในการสร้างรายได้ในระดับที่ดี โดยมีรายได้รวม 551 ล้านบาท และงวด 6 เดือนแรกมีรายได้รวม 1,209 ล้านบาท หลักๆ มาจากรายได้ดอกเบี้ยรับจากสัญญาเช่าซื้อและเงินให้กู้ยืมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยบริษัทได้มุ่งเน้นการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างต่อเนื่องและมีการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างระมัดระวังเพื่อรองรับคุณภาพของสินเชื่อภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงฟื้นตัวเฉพาะส่วน
อย่างไรก็ดี บริษัทมีการ Write-off ลูกหนี้ที่คาดว่าจะเก็บเงินไม่ได้ ประมาณ 917 ล้านบาทในไตรมาส 2/2566 และตั้งสำรอง ECL เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบใหญ่ในไตรมาสหน้า ส่งผลให้ SGC มีผลขาดทุนสุทธิในไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ 1,919 ล้านบาท และรอบ 6 เดือนปี 2566 มีผลขาดทุนสุทธิ 2,287 ล้านบาท
เพื่อสร้างฐานการเติบโตอย่างมีคุณภาพ บริษัทพิจารณาการปล่อยสินเชื่ออย่างรัดกุม โดย ณ สิ้นงวดไตรมาส 2/2566 สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ประมาณ 3,200 ล้านบาท โฟกัสสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (C4C) สนับสนุนให้มูลค่าของพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 13,778 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (C4C) ภายใต้แบรนด์รถทำเงิน 10,302 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 75% และมีสินเชื่อเช่าซื้อ 3,022 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22% และอื่นๆ 454 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3% ของพอร์ตสินเชื่อรวม คาดในครึ่งปีหลังทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง และนอกจากการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว ยังสนใจสินเชื่อผ่อนทอง CLICK2GOLD และการ Synergy ร่วมกับบริษัทในกลุ่มเจมาร์ท
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon