ยูโอบีร่วมพันธมิตร ปลดล็อคธุรกิจ เข้าถึงเทคโนโลยี ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงระบบนิเวศสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

131

มิติหุ้น – จากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2565 จำนวน 11 ล้านคน สร้างเม็ดเงินให้กับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม การขนส่ง งานบริการ อาหารเครื่องดื่ม มีกระแสเม็ดเงินภาพรวมสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท และเพียงครึ่งปีแรกของ 2566 มีสถิติการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวสูงขึ้นถึง 12.9 ล้านคน นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีอย่างยิ่งในการเพิ่มรายได้เข้าประเทศ คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวน่าจะเป็น 1 ใน 3 ของรายได้ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

สอดคล้องกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) เศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 /66 ขยายตัวร้อยละ 2.7 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการขยายตัวของภาคบริการ โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว รวมทั้งการผลิตในภาคเกษตร โดยมีปัจจัยจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และการขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ[1]

เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย โดย เดอะฟินแล็บ ประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และ O2O Forum ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “Journey to Attract Eco-Friendly and Tech Savvy Tourists” ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้โครงการ Sustainability Innovation เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจการท่องเที่ยว โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับ SMEs ที่มุ่งสู่การทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ปรับรูปแบบธุรกิจ รับกระแสการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

 

นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และ พัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวย้ำว่า การขับเคลื่อนกลยุทธ์การท่องเที่ยวไทยในการสร้างประสบการณ์ทรงคุณค่าและยั่งยืนคือเป้าหมายหลักของ ททท.“การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วยการสนับสนุนเทคโนโลยีร่วมลงทุนและพัฒนานวัตกรรมร่วมกับผู้ประกอบการมุ่งสร้างธุรกิจ และการเชื่อมต่อที่ดียิ่งขึ้น ส่งมอบบริการที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น ช่วยในการสื่อสารเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึกจากนักท่องเที่ยวจะเป็นความยั่งยืนที่ตอบสนองธุรกิจของผู้ประกอบการในระยะยาวได้อย่างมีมูลค่ามุ่งสู่โรดแมป Digital Tourism Plan 2570 ได้ตามแผนงาน”

 

อีกแนวคิด ข้อเสนอของนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดใจว่า ถึงเวลาที่ภาครัฐบาลควรให้ความสำคัญและกำหนดให้การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติได้แล้ว           ด้วยตรรกะที่มีนัยยะสำคัญอย่างชัดเจนจากหลายๆ ประเทศ ที่มีตัวเลขการเติบโตในภาพมวลของเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มหาศาลเข้าประเทศนั้นๆ ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนจากภาครัฐบาลโดยตรงสู่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว “เป็นไปได้หรือไม่กับนโยบายยกเว้นภาษี 5 ปี เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ได้ปักหมุด และมีเวลาพร้อมปรับตัว ติดปีกธุรกิจ เปิดโลกทัศน์ หาพันธมิตร เติมนวัตกรรม เชื่อมแหล่งเงินทุน ตลาดและใช้เครื่องมือดิจิทัล เพื่อเดินหน้าไปต่อ เพราะจากตัวเลขที่ทางสภาอุตสาหกรรมฯ พบหลังวิกฤตโควิด มีผู้ประกอบการร้อยละ 30 เท่านั้นที่ปรับตัวใช้ดิจิทัล ทำให้สามารถฝ่าคลื่นเศรษฐกิจและคงธุรกิจให้อยู่รอดมาได้”

 

ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล โอกาสออกสู่ตลาดโลก

เพื่อมุ่งสู่การฟื้นฟู ธุรกิจการท่องที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ “นวัตกรรม” คือสิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องจัดสรรและเติมองค์ความรู้เหล่านี้อย่างเร่งด่วน ดร.นริสา เชื้อวิดุล-ออ CEO ของ โคโกะเพย์ (KogoPay) แพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านมือถือ เทคโนโลยี FinTech ที่มุ่งมั่นสร้างระบบนิเวศที่เป็นประโยชน์ต่อทุกอุตสาหกรรมธุรกิจให้ใช้งานร่วมกันได้  แชร์ประสบการณ์สำหรับ SMEs ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่การขายออกไปในระดับสากล ต้องศึกษาและเตรียมพร้อมเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้ช่องทางการให้บริการทางการเงินแบบนี้กับกลุ่มลูกค้าให้ได้ เพื่อการสร้างการตลาดแบบไร้พรมแดน เปิดตลาดการขายได้ตลอดเวลาทุกพื้นที่ ทั่วโลก ได้แล้ว

ขณะเดียวกัน นายกิตติ พรศิวะกิจ ประธาน Smart Tourism สทท. และกรรมการบริหาร ททท. ย้ำว่า        “คนที่ใช้เทคโนโลยีเป็น และไม่เป็น มีกำไรทางธุรกิจต่างกันถึง 5 เท่า” ดังนั้น SMEs ต้องมองตลาดให้ชัดเจน รู้ว่า ลูกค้าคือใคร ต้องขายอะไร ใช้เครื่องมือสื่อสารใดที่ตรงใจและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า ที่ผ่านมา Pain point ใหญ่ๆคือใช้คนเยอะเกินไป และเมื่อโควิดจากไปพร้อมกับทิ้งการทำงานแบบดิจิทัลไว้ ซึ่งพลิกโฉมการดำเนินธุรกิจอย่างสิ้นเชิงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ความฉลาดเลือกใช้เครื่องมือดิจิทัลที่สำคัญ ครบถ้วน 4 กระบวนการหลัก   1) เป็นธุรกิจที่ Smart ครอบคลุมการบริหารจัดการครบ 5 ด้าน การตลาด, ระบบปฏิบัติการ, งานบริการ, โครงสร้างเครือข่ายและการนำดาต้ามาวิเคราะห์กลุ่มลูกค้า ให้ได้ 2) เลือกใช้เทคโนโลยี ที่ทำได้เร็ว ขายได้      ตอบโจทย์ลูกค้าด้วย Green Business เป็นอีกโอกาสที่ไม่ควรมองข้าม โดยปฏิบัติตามมาตรฐานความยั่งยืนที่กำหนดโดย องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ในเรื่องของ SDGs ( Sustainable Development Goals) ให้ได้        3) เข้าถึงและตอบโจทย์กระแสท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างสุขภาพที่ดี (Wellness) และสุดท้าย 4) มีส่วนร่วมหรือ Plus คนในชุมชนท่องเที่ยว พันธมิตรในระบบนิเวศอุตสาหกรรม      ให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจแบบยั่งยืนร่วมกัน

 

ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม  ผนึกเครือข่ายพันธมิตร เข้าถึงโซลูชันทางการเงิน

 

มีคำถามว่า “นักท่องเที่ยวอย่างเรา ต้องทำอย่างไร? การเดินทางครั้งต่อไปจึงจะยั่งยืน และผลักดันให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนักท่องเที่ยวไม่เป็นเพียง World Traveler แต่จะเป็น World Heroes! ที่ช่วยลดการใช้พลังงานได้อีกทาง ดร.ธันยพร กริชทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย UN GCNT (UN Global Compact Network Thailand)  ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเพื่อ SMEs ได้ปักหมุดทำธุรกิจให้สอดคล้องกับ 17เรื่องหลักๆ ที่ UN กำหนดไว้ใน SDGs ว่า “การทำธุรกิจแบบยั่งยืน คือ เราทำได้ ให้ธุรกิจมีกำไร และ SMEs ที่ต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจควรประยุกต์ 4 แนวคิดนี้เข้ากับกิจการ ประกอบด้วย 1) ลดต้นทุนในการดำเนินการงานและต้นทุนของการลงทุน 2) ลดความเสี่ยงทางธุรกิจ ด้วยการหาพันธมิตรร่วมทาง 3) เพิ่มความเชื่อมั่น ด้วยการใช้มาตรฐานที่รับรองและตรวจสอบได้ 4) สร้างโอกาสใหม่ของรายได้ที่เติบโต ตามเทรนด์โลก ต้องรู้จัก และรู้เท่าทัน จะทำให้สามารถจัดการธุรกิจได้

ปิดท้ายงานเสวนาด้วยนางสาวปพิชญา สันเทพ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการด้านความยั่งยืน ธนาคาร ยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ยูโอบี พร้อมเชื่อมโยงผู้ประกอบการในระบบนิเวศธุรกิจเข้ามาแชร์ประสบการณ์ องค์ความรู้เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนร่วมกัน รวมถึงให้โอกาส SMEs ได้เข้าถึงโซลูชันด้านการเงินแบบครบวงจร ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ U-Drive สำหรับระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อความยั่งยืน U-Energy เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมการดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงานสำหรับอาคาร ซึ่งจะช่วยลดค่าไฟและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนที่ตั้งไว้ และ U-Solar แพลตฟอร์มที่สนับสนุนระบบนิเวศของอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์  พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ด้วยข้อมูลเชิงลึกและองค์ความรู้ต่างๆ ในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน”

 

โครงการ Sustainability Innovation มุ่งยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจการท่องเที่ยวอาทิ โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจบันเทิง มีความสนใจในการปรับใช้แนวทางความยั่งยืน เปิดรับเทคโนโลยีล้ำสมัย และพร้อมลงทุนต่อยอดธุรกิจด้วยการใช้เครื่องมือดิจิทัล ผ่านการสนับสนุนที่จำเป็น พร้อมด้วยทรัพยากรและเครื่องมือในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่จะสร้างสมดุลระหว่าง ผลกระทบ ผลกำไร และประสิทธิภาพได้อย่างลงตัว

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon