มิติหุ้น – ทุกวันนี้เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองทั่วโลก เต็มไปด้วยความผันผวนและความท้าทายมากมายที่ยากจะคาดเดา ส่งผลให้การลงทุนในปัจจุบันมีปัจจัยที่เข้ามากระทบมากขึ้น นักลงทุนจึงต้องแสวงหาแนวทางการลงทุนใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพ และสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างยั่งยืน
การลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment) คือ กลยุทธ์การลงทุนที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกำไรของบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่คำนึงถึงประเด็นด้าน ESG ด้วย ซึ่งประกอบไปด้วย สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance)
ขณะเดียวกันก็ต้องควบคู่กับการมองหาหาธุรกิจที่มีพื้นฐานดี ฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง ในขณะเดียวกันสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตไปพร้อมกับเทรนด์แห่งอนาคตด้วย เพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าเงินลงทุนนั้นจะสามารถสร้างผลตอบตอบแทนที่เติบโตในระยะยาว
ธีมการลงทุนยั่งยืน ทำไมจึง “สำคัญและจำเป็น”
1. ช่วยขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ บรรลุเป้าหมาย Paris Agreement
Paris Agreement นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศต่าง ๆ กว่า 197 ทั่วโลก มีจุดยืนที่เข้มแข็งร่วมกันที่จะเดินหน้าไปสู่ศรษฐกิจสีเขียว ‘Green Economy’ ด้วยการลดการปล่อยคาร์บอน ลดการเผาไหม้ ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิล และเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยกำหนดเป้าหมายไว้ที่ระดับ 1.5 องศาเซลเซียส (ที่มา: The Paris Agreement, United Nation Climate Change as of 2021)
แน่นอนว่าการกำหนดเป้าหมายดังกล่าวนั้นเป็นตัวเร่งให้ภาคอุตสาหกรรมหันมาพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนมากขึ้น ตลอดจนเพิ่มเม็ดเงินลงทุนมหาศาลที่เข้ามาสนับสนุนธุรกิจด้าน Green Economy ในทางกลับกันกฎระเบียบด้าสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้นก็กลายเป็นแรงกดดันของธุรกิจที่มีการปล่อยมลพิษสูงเช่นกัน
ภาพที่ 1: แสดงข้อตกลงเพื่อบรรลุเป้าหมาย Paris Agreemen
ที่มา: msci.com as of 2021
2. ช่วยรับมือกับความผันผวนในอนาคต
ผลการศึกษาต่าง ๆ พบว่าบริษัทที่ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้ในระยะยาว ทั้งมิติทางการแข่งขัน และการถูกยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) เนื่องจาก ESG เป็นกลไกที่สำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงจากการดำเนินงานของบริษัท เช่น โอกาสถูกฟ้องร้องจากชุมชน ปัญหาคอรัปชั่น อีกทั้ง ช่วยส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นต้น ดังนั้น แม้ในระยะสั้นภาวะการลงทุนจะมีความผันผวนขึ้น ๆ ลง ๆ บ้างเป็นบางช่วง ตามปัจจัยเศรษฐกิจ แต่ท้ายที่สุดแล้วในระยะยาวบริษัทเหล่านี้จะมีความผันผวนน้อยกว่าบริษัทที่ไม่คำนึงถึงเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน
3. ทำให้ธุรกิจมีศักยภาพเติบโตในระยะยาว
เพราะแก่นของการลงทุนอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การมุ่งเน้นบริษัทที่จะสร้างผลกำไรเติบโตสูงในระยะสั้น แต่เป็นการให้ความสำคัญกับกลยุทธ์เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว ตลอดจนพยายามแสวงหาธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ และเป็นเมกะเทรนด์ของโลกอนาคต
4. ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
ปัจจุบันเราจะเห็นว่ารัฐบาลและหน่วยงานด้านการกำกับดูแลต่าง ๆ ทั่วโลก ต่างก็เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนบริษัทที่ดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG หรืออยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นธีมความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การสนับสนุนด้านเงินทุน การออกมาตรการทางกฎหมาย การส่งเสริมความรู้แก่ผู้ประกอบการ และการเผยแพร่ข้อมูลต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุน และสาธารณะ เป็นต้น
ดังนั้น ในสภาวะที่เศรษฐกิจและการลงทุนผันผวนเช่นนี้ ‘ความยั่งยืน’ อาจจะเป็นคำตอบที่นักลงทุนหลายคนกำลังแสวงหาอยู่ ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นธีมการลงทุนที่สร้างโอกาสใหม่ๆ แก่นักลงทุนอีกด้วย คำถามคือแล้วธีมการลงทุนแบบไหนล่ะที่น่าสนใจ และกำลังจะกลายเป็นกระแสหลักของโลกยุคใหม่ บทความนี้จึงได้รวบรวม Sustainable Thematic Investment ทั้งหมด 7 ธีมจาก Robeco Institutional Asset Management ผู้นำระดับโลกด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งใช้กระบวนการคัดกรองสินทรัพย์ตามหลักความยั่งยืน บนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals: SDGs) (ที่มา: RobecoSAM as of 2023)
7 ธีมการลงทุนยั่งยืน ที่น่าจับตามองในอนาคต
1. Sustainable Water Equities: เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นลงทุนในบริษัทที่มีการปกป้องคุณภาพแหล่งน้ำของโลก การบำบัดน้ำเสีย และการปรับปรุงและหมุนเวียนน้ำให้สะอาดสามารถนำกลับมาใช้ใหม่
2. Sustainable Healthy Living Equities: เป็นการลงทุนในบริษัทที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่งเสริมวิถีชีวิตที่ดีในเรื่องสุขภาพเพื่ออายุที่ยืนยาวแข็งแรง เช่น ผู้ผลิตยาและวัคซีน เครื่องมือทางการแพทย์ บริการทางการแพทย์ รวมไปถึงนวัตกรรมทางชีวภาพสำหรับการตรวจวินิจฉัยโรค
3. Circular Economy Equities: ธีมการลงทุนที่ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน กระบวนการผลิตที่เน้นการนำวัตถุดิบและทรัพยากรให้หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่แบบไม่รู้จบ ตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางธุรกิจ นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มยอดขาย อัตรากำไร และความสามารถทางการแข่งขันอีกด้วย
4. Smart Materials Equities: อุตสาหกรรมการผลิตที่มุ่งเน้นการใช้วัสดุที่เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้กระบวนการผลิตมีความสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดได้มากขึ้น
5. Smart Energy Equities: ธีมการลงทุนที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจ
คาร์บอนต่ำ ด้วยการส่งเสริมการใช้พลังงานอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของชุมชน เช่น การผลิตพลังงานสะอาด ระบบกักเก็บพลังงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
อัจฉริยะแบบครบวงจร เป็นต้น
6. Smart Mobility Equities: การลงทุนในระบบจราจรและการขนส่งอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความสะดวก และความปลอดภัยในการเดินทางขนส่ง รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับบริษัทในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ตลอดจนผู้พัฒนาระบบเครือข่ายการเดินทาง และซอฟต์แวร์ยานยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น
7. Biodiversity Equities: เป็นธุรกิจที่ตระหนักถึงความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศอย่างยั่งยืนโดยใช้นโยบายการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคม
สุดท้ายนี้ คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการลงทุนอย่างยั่งยืน กลายเป็นแนวคิดการลงทุนกระแสหลักของทั่วโลกไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มนักลงทุน นักวิเคราะห์ และบริษัทจดทะเบียน ที่หันมาให้ความสำคัญกับนโยบายด้านความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการลงทุนกับความยั่งยืนไม่ใช่แค่เทรนด์ฉาบฉวยที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่กำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ที่ทุกคนต้องคำนึงก่อนตัดสินใจลงทุน
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon