น้ำมันดีเซล B20 อานิสงส์ตกถึงใคร?

685

ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกได้ขยับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลช่วงต้นปี 61 ปัจจุบันมาอยู่ระดับเฉลี่ย 75-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนราคาเชื้อเพลิงในประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 3 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาขายปลีกดีเซลเพิ่มจากราวๆ 26 บาทต่อลิตร เป็น 29 บาทต่อลิตรในปัจจุบัน

และเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับค่าโดยสารและค่าบริการขนส่งสินค้า กระทรวงพลังงานได้เตรียมป้องกันผลกระทบหากราคาน้ำมันตลาดโลกแตะระดับ 90 – 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

              โดยสนับสนุนการพัฒนาน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ คือ B20 ซึ่งจะมีส่วนผสมไบโอดีเซลมากกว่าเกรดปกติ B7 โดยมีเป้าหมายหลัก คือ เพื่อช่วยดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์ม สร้างเสถียรภาพด้านราคา และเพื่อใช้สำหรับรถบรรทุกสินค้าและรถโดยสารสาธารณะที่ได้มีการปรับสภาพเครื่องยนต์ไว้แล้ว

พร้อมกับกำหนดราคาขายปลีก B20 ถูกกว่าดีเซลเกรด B7 ถึงลิตรละ 3 บาท

มาตรการบรรเทาผลกระทบด้วยการสนับสนุนใช้น้ำมันดีเซล B20 ครั้งนี้ เป็นมาตรการระยะสั้น ภายใต้งบกองทุนน้ำมันที่สนับสนุนราว 3,000 ล้านบาท และเป็นมาตรการแบบสมัครใจ ซึ่งจะยกระดับให้ใช้กับรถยนต์ทั่วไปหรือให้บริการผ่านสถานีน้ำมันหรือไม่ ต้องรอผลตอบรับจากผู้ใช้ในครั้งนี้ก่อน รวมถึงผลศึกษาการใช้กับรถยนต์ทั่วไป ว่าจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน

มาตรการนี้ เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.61 แม้จะเป็นเพียงการสนับสนุนระยะสั้น แต่เป็นปัจจัยหนุนกับผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน และผู้ประกอบการปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP ที่ตอบรับมาตรการดังกล่าวแล้ว ซึ่งคาดว่าธุรกิจไบโอดีเซลจะขยายตัวมากขึ้น และยังเป็นปัจจัยหนุนต่อ บมจ.ยูเอซี โกลบอล หรือ UAC ที่มีสัดส่วนการถือหุ้น 30% ใน บจ.บางจากไบโอฟูเอล หรือ BBF บริษัทย่อยของ BCP โดยผู้บริหาร UAV คาดว่าฐานกำไรของ BBF จะกลับสู่ระดับปกติที่ 100 ล้านบาทต่อปี ทำให้ UAC ได้ส่วนแบ่งกำไรมากขึ้น

นอกจาก BCP แล้ว บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล หรือ GGC ได้ตอบรับมาตรการนี้เช่นกัน ในการสนับสนุนการผลิต B20 อาจจะได้รับปัจจัยหนุนในระยะสั้น แต่ระยะยาว ผู้ประกอบการคาดหวังว่ากระทรวงพลังงานจะประกาศให้มีการใช้ B20 ในรถยนต์ทั่วไป

จะส่งผลต่อความต้องการปริมาณปาล์มน้ำมันมาเป็นส่วนผสมน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการไบโอดีเซลมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น รองรับการใช้เพิ่มขึ้นนั่นเอง และเมื่อความต้องการปาล์มน้ำมันเพิ่ม จะหนุนต่อกลุ่มผู้ผลิตปาล์มน้ำมันอย่าง บมจ.ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม หรือ CPI และ บมจ.น้ำมันพืชไทย หรือ TVO ด้วย

เรียกว่า ทั้งโรงกลั่น และกลุ่มผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน รับประโยชน์กันทั่วหน้า

                                                                                                “บิ๊กเซ็ต”