‘อีวาย’ เผย CEO ทั่วโลกมองการเปลี่ยนแปลงธุรกิจดันรายได้ กำไร และการทำดีลซื้อขายควบรวมกิจการต่าง ๆ ในปี 2567 เพิ่มสูงขึ้น

101

มิติหุ้น  –  อีวาย (EY) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของ CEO ทั่วโลกจำนวน 1,200 คน จาก 21 ประเทศในไตรมาสนี้เกี่ยวกับแนวโน้ม ความท้าทาย และโอกาสในการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งการสำรวจนี้แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของ CEO ที่เข้าร่วมตอบผลสำรวจว่าพวกเขาจะสามารถทำให้บริษัทมีผลประกอบการเป็นขาขึ้นถึงแม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเติบโต โดย CEO ส่วนใหญ่ประมาณ 64% คาดหวังการเติบโตของรายได้และความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 นี้

ถึงแม้ CEO จะมีมุมมองเชิงบวกต่อผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม CEO ยังคงตระหนักถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคที่ยังคงมีความท้าทายอย่างต่อเนื่อง โดยมากกว่าสามในสี่ของ CEO คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงเติบโตต่อไปในระดับต่ำและกำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการที่อัตราดอกเบี้ยจะ “สูงขึ้น” จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ CEO มากกว่าครึ่ง (57%) คาดการณ์ว่าต้นทุนทางธุรกิจจะเพิ่มขึ้น

อรพรรณ เช็ง หุ้นส่วน สายงานบริการที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการทำธุรกรรม อีวาย ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า:

“ถึงแม้ CEO คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง แต่ CEO ยังมีความเชื่อมั่นว่าจะผลักดันให้บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น โดยหลายบริษัทต่างกำลังพัฒนาความสามารถในการปรับตัวและมองหาโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพและเปลี่ยนแปลงธุรกิจเพื่อการเติบโต นอกจากนี้ การคาดการณ์ว่าตลาด M&A (การซื้อขายและควบรวมกิจการ) จะปรับตัวขึ้นนั้นเป็นการส่งสัญญาณของการฟื้นตัว ทำให้ CEO หลายคนกลับมาทบทวนแผนการเปลี่ยนแปลงธุรกิจอย่างจริงจัง พร้อมมองหาโอกาสการลงทุนและวางรากฐานเพื่อหาพันธมิตรที่มีศักยภาพ”

 

การฟื้นตัวของตลาดการซื้อขายกิจการในปี 2567

CEO คาดการณ์ว่าตลาดการซื้อขายกิจการจะฟื้นตัว โดย 79% คาดการณ์ว่าการทำ M&A ขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 36% ของผู้เข้าร่วมตอบแบบสำรวจมีแผนจะเดินหน้าทำ M&A อย่างจริงจังในอีก 12 เดือนข้างหน้า และอีก 29% กำลังพิจารณาการขายเงินลงทุนบางส่วน โดยสหรัฐฯ ยังคงครองตำแหน่งภูมิภาคเป้าหมายที่น่าสนใจที่สุดในการทำ M&A รองลงมาคือญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน และอินเดีย โดยอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่คาดว่าจะมีการทำ M&A มากที่สุด เริ่มต้นอับดับแรกคืออุตสาหกรรมการผลิต ตามมาด้วยอุตสาหกรรมธนาคารและตลาดทุน ประกัน สินค้าอุปโภคบริโภค และการเดินทางและขนส่ง

การสำรวจในไตรมาสนี้ยังชี้ให้เห็นมุมมองของผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Private Equity (PE) จำนวน 300 คนจากกว่า 20 ประเทศ เกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนและการจัดการพอร์ตการลงทุนของพวกเขา ซึ่งความเห็นสอดคล้องกับเหล่า CEO โดยผู้บริหารระดับสูงของบริษัท PE ที่ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ (71%) คาดการณ์ไว้เช่นกันว่าดีลการซื้อขายกิจการขนาดใหญ่จะเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะมีการขายเงินลงทุนบางส่วนหรือ Carve out แยกธุรกิจออกจากบริษัทเดิมมากขึ้นในปี 2567 ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มเชิงบวกของตลาดการซื้อขายควบรวมกิจการมากกว่าที่เห็นในปีก่อนหน้า

การผลักดันแผนการเปลี่ยนแปลงธุรกิจโดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการบริหารต้นทุน

หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยยกระดับความเชื่อมั่นของ CEO คือการผลักดันให้บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ โดย 58% ของ CEO ที่เข้าร่วมการสำรวจอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อผลักดันให้เกิดวาระการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ (Business transformation) ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มเกือบสามเท่าจาก 21% เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจในเดือนกรกฎาคม 2566 ในทางตรงกันข้าม มีเพียง 5% เท่านั้นที่ระบุว่าบริษัทไม่มีแผนการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ซึ่งลดลงจาก 37% เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจในเดือนกรกฎาคม 2566

​อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมุมมองเชิงบวกต่อความสามารถในการเพิ่มผลประกอบการ CEO ต่างก็คำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติของการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ โดยจุดที่มุ่งเน้นเป็นหลักคือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและกลยุทธ์การจัดการต้นทุน มากกว่า 40% ของ CEO และผู้บริหารระดับสูงของบริษัท PE ต่างให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพเป็นอันดับต้นๆ และพิจารณานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ โดยต้องการนำ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับผลประกอบการธุรกิจ สิ่งที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ CEO เหล่านี้พร้อมจะนำ  AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน สามในสี่ (76%) ของผู้เข้าร่วมสำรวจกลับเห็นพ้องกันว่าเทคโนโลยีจะมีผลเพียงเล็กน้อยต่อการเติบโตของรายได้

 

“หากปี 2566 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากองค์กรต่าง ๆ ต้องเผชิญกับ ‘วิกฤตการณ์ที่หลากหลาย’ ปี 2567 ก็จะเป็นปีแห่งการเริ่มลงมือปฏิบัติ เราจะได้เห็นวิธีที่ CEO พิจารณานำมาจัดการกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ การหาจุดสมดุลระหว่างการมองโลกในแง่ดีแต่ในขณะเดียวกันก็ยังคำนึงถึงวิธีการที่สามารถปฏิบัติได้จริง และการมุ่งเน้นที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการบริหารต้นทุน โดยยอมรับว่าต้นทุนในการทำธุรกิจไม่น่าจะลดลงถึงระดับก่อนเกิดการแพร่ของโรคระบาด” อรพรรณ ให้ความเห็นเพิ่มเติม

 

ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ถือเป็นประเด็นสำคัญในปีที่มีการเลือกตั้งในหลายประเทศ

จากการที่ประชากรโลกกว่าครึ่งจะใช้สิทธิ์เลือกตั้งในอีก 12 เดือนข้างหน้า CEO จึงตระหนักดีถึงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และผลกระทบต่อธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น มากกว่าสามในสี่ (78%) ของผู้ตอบแบบสำรวจมีความกังวลต่อความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้นโยบายประชานิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลทำให้มีความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น และก่อให้เกิดความท้าทายทางธุรกิจ นอกจากนี้ 76% กังวลเกี่ยวกับการใช้ AI อย่างไม่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในการเลือกตั้งสำคัญในปี 2567

ถึงแม้ CEO จำนวนมากรู้สึกมั่นใจกับความสามารถขององค์กรในการตัดสินใจโดยคำนึงถึงประเด็นความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ เกือบครึ่งหนึ่ง (48%) เชื่อว่าบริษัทยังมีช่องให้ปรับปรุงกระบวนการที่กำหนดไว้เพื่อจัดการความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ 98% ของ CEO และผู้บริหารระดับสูงของบริษัท PE มีมุมมองว่าบริษัทสามารถปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนได้ซึ่งรวมถึงการออกจากธุรกิจบางประเภท (จากความเห็นของ CEO ในสัดส่วน 32% และผู้บริหารระดับสูงบริษัท PE ที่ 38%) หรือชะลอการลงทุนที่วางแผนไว้ (42% ของ CEO และ 32% ของผู้บริหารระดับสูงของบริษัท PE)

“การเมืองยังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อธุรกิจเหมือนที่เป็นมา และ CEO ต่างตระหนักดีถึงความจำเป็นในวางแผนกลยุทธ์ที่ต้องคำนึงถึงประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปีนี้อาจมีปัจจัยความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้นจากการเลือกตั้งในหลายประเทศในอีก 12 เดือนข้างหน้าซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อธุรกิจในหลายประเทศ หลายบริษัทยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับกระบวนการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว จึงถึงเวลาที่ผู้บริหารควรพิจารณาทบทวนและปรับปรุงกลยุทธ์เพื่อให้บริษัทสามารถปรับตัวและดำเนินงานตามแผนธุรกิจหลักที่วางไว้ในสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์การเมืองที่ผันผวนได้” อรพรรณ กล่าวปิดท้าย

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon