“กรุงไทย” แนะภาคธุรกิจเร่งปรับใช้โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างโอกาสเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน ตอบโจทย์ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ชู “การเงินยั่งยืน” ตัวช่วยธุรกิจปรับตัว

43

มิติหุ้น  –  ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) เป็นเมกะเทรนด์โลกที่กำลังมาแรง ในยุคที่ทุกฝ่ายต่างมองหาการเติบโตที่ยั่งยืน และสร้างภูมิคุ้มกันจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง จากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกแบ่งขั้ว สะท้อนจากผลสำรวจผู้ประกอบการรายใหญ่ทั่วโลกต่อการยึดมั่นในแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน  ผู้ประกอบการไทย จึงควรเร่งปรับตัวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน  เพื่อสร้างโอกาส และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมเมกะเทรนด์ดังกล่าว  โดยเฉพาะกฎระเบียบทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เช่น ยุโรปที่เริ่มบังคับใช้กฎเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนฉบับใหม่ (Corporate Sustainability Reporting Directive หรือ CSRD) ในปีงบการเงิน 2567  ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รวมปัจจัยเศรษฐกิจหมุนเวียน และมีผลกระทบกับบริษัทมากถึง 50,000 แห่ง ขณะที่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ยุโรปอาจบังคับใช้มาตรการ Digital Product Passport ที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องเผยแพร่ข้อมูลผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคทราบ ซึ่งครอบคลุมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย เป็นปัจจัยท้าทายต่อผู้ส่งออกของไทย

“เศรษฐกิจหมุนเวียนจะสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการ ทั้งโอกาสในการลดต้นทุน โอกาสในการเพิ่มรายได้  และโอกาสในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยงานวิจัยในต่างประเทศ ชี้ว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนจากการลดวัสดุในการผลิต 28% เพิ่มรายได้ทั่วโลกมากถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2573 และช่วยลดก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกได้ถึง 39% ซึ่งประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อีกมาก สะท้อนจากอัตราการนำของเหลือทิ้งไปใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 33% โดยธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ สื่อและสิ่งพิมพ์  ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ มีอัตราต่ำกว่า 10% เทียบกับยุโรปและเกาหลีใต้ที่สูงถึง 46% และ 60% ตามลำดับ”

นายณัฐพร ศรีทอง นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย  Krungthai COMPASS  กล่าวว่า  การเงินเพื่อความยั่งยืนและการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Sustainable and Transition Finance) เป็นฟันเฟืองสำคัญช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและธุรกิจสีเขียว  โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนราว 9.84 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ในไทยอยู่ที่เกือบ 1.8 แสนล้านบาท และคาดว่า ในระยะข้างหน้าจะขยายตัวมากขึ้น จากเทรนด์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emission) เช่น ญี่ปุ่นวางแผนจะออก Transition bond มูลค่า 20 ล้านล้านเยน หรือ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีก 10 ปีข้างหน้า ขณะที่ในไทยมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการเปิดตัวกองทุน “Thai ESG”  รวมถึงภาคธนาคารไทยเตรียมนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางเงินที่สนับสนุนภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Transition Finance Product) ในช่วงต้นไตรมาส 3 ของปี 2567 นี้

            “ผู้ประกอบการไทยควรเร่งปรับตัวรับความท้าทายจากกฎเกณฑ์ของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูล เช่น ข้อมูลการใช้ปัจจัยการผลิตรีไซเคิล และข้อมูลการบริหารจัดการของเหลือทิ้ง ตลอดจนปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ รวมถึงพิจารณาระดมทุนผ่าน Sustainable และ Transition Finance ขณะที่ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุน เช่น มาตรการจูงใจ สนับสนุนองค์ความรู้แก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่ม SME และมาตรการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น”

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon