It’s Different This Time คือหนึ่งในสำนวนที่เรามักได้ยินเวลาเกิดสถานการณ์ซึ่งมีองค์ประกอบคล้ายคลึงกับในอดีตแต่ลึกๆ แล้วยังมีความหวังว่าผลกระทบจะไม่ซ้ำรอยเดิม ช่วงนี้ผู้เล่นในตลาดเงินพูดกันมากขึ้นถึงประเด็นเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve) พันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งมีลักษณะแบนราบอย่างมาก นักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่าหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกสองครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ตามแนวทางที่ได้ส่งสัญญาณไว้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นจะปรับตัวขึ้นจนสูงกว่าอัตราผลตอบแทนระยะยาว ทำให้เกิด yield curve inversion ซึ่งโดยสถิติมักทำนายเหตุการณ์ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้อย่างแม่นยำ (กราฟด้านล่าง)
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ยื่นรายงานรอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรสก่อนนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดแถลงนโยบายการเงินต่อสภาฯ วันที่ 17-18 กรกฎาคม โดยระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัว “อย่างแข็งแกร่ง” ในช่วงครึ่งปีแรก อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ความมั่งคั่งของภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์ทางการเงินภายในประเทศยังคงผ่อนคลายในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังจะช่วยหนุนการขยายตัวของจีดีพีอีกทางหนึ่ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปอาจเพิ่มความยืดหยุ่
สำหรับการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยได้บ้าง โดยเราเชื่อว่าประธานเฟดจะแสดงท่าทีระมัดระวังต่อประเด็น yield curve inversion ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนบางส่วนในตลาดในเรื่องความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แน่นอนว่านักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักมองไปในทิศทางเดียวกันว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายปฏิรูปภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐอย่างเข้มข้นจะเพิ่มความร้อนแรงให้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะสั้น
ในขณะเดียวกันการเดินหน้ากีดกันทางการค้าภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่มความน่าจะเป็นสำหรับกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะแผ่วลงอย่างฉับพลันในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม หากมองจากมุมของตลาดการเงิน ยังมีแนวคิดที่แตกต่างอยู่บ้าง เนื่องจากบริบทของสถานการณ์ในปัจจุบันสะท้อนผลกระทบจากการใช้นโยบาย Quantitative Easing ของเฟดในช่วงที่เกิดวิกฤติ ซึ่งกดดันอัตราผลตอบแทนระยะยาวให้ต่ำเกินจริง
ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำทั่วโลกจากหลายสาเหตุ อาทิ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น บทบาทของพลังงานทางเลือก รวมถึงสังคมสูงวัยซึ่งเพิ่มสัดส่วนพฤติกรรมการออมของผู้บริโภคมากกว่าการใช้จ่าย เป็นต้น รูปทรงของ yield curve ที่อาจจะลาดลงในรอบนี้เพียงตัวชี้วัดเดียวจึงอาจไม่ได้ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยก็เป็นได้
โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
www.mitihoon.com