สำนักงาน กสทช. รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป (Public Hearing) ต่อ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ฉบับที่ 3

50

มิติหุ้น  –  พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. เป็นประธานเปิดการประชุมการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป (Public Hearing) ต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. …) โดยมี รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช. พร้อมด้วยผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้ประกอบการและประชาชน เข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็น ทั้งออนไลน์และออนไซต์มากกว่า 200 คน ณ ห้องประชุมเมย์แฟร์ ชั้น 11 โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร  

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. ในฐานะประธานอนุกรรมการคลื่นความถี่และมาตรฐานทางเทคนิค กสทช. กล่าวว่า แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่เป็นเสมือนต้นน้ำของกระบวนการบริหารและจัดสรรคลื่นความถี่ และเป็นหน้าที่ของ กสทช. ตามที่กฎหมายได้บัญญัติให้ต้องจัดทำเป็นเรื่องแรก เพื่อให้มีแนวทางในการจัดสรรและใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ของประเทศไทย รวมทั้งจัดทำตารางกำหนด  คลื่นความถี่แห่งชาติ (Frequency Allocation Table) ที่มีรายละเอียดคลื่นความถี่ในแต่ละย่าน ว่าสามารถ ใช้งานในกิจการใดได้ ทั้งนี้ต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่ ITU กำหนด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดทำและปรับปรุงมาแล้ว 2 ฉบับ ในครั้งนี้จึงได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปรวมทั้งผลการประชุมวิทยุโทรคมนาคมระดับโลก หรือ ‘World Radiotelecommunications Conference’ หรือ WRC ที่ ITU ได้สรุปผลการประชุมไปในปีที่แล้ว

การปรับปรุงแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ ในครั้งนี้จึงได้มีการปรับปรุงใน 2 ส่วนหลัก กล่าวคือ ในส่วนของแผนแม่บทฯ ที่ยังคงมีวิสัยทัศน์ที่กำหนดให้ บริหารคลื่นความถี่อันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าและทั่วถึง” รวมทั้งยุทธศาสตร์ทั้ง 3 เช่นเดิม แต่ได้มีการปรับปรุง เป้าประสงค์ กลยุทธ์ และตัวชี้วัดให้เหมาะสม ในส่วนของตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ที่ได้มีการปรับปรุงย่านคลื่นความถี่ และข้อกำหนดเฉพาะของประเทศไทยให้สอดคล้องกับสากล

โดยได้มีผู้แสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ เช่น ควรเน้นในเรื่องของความถี่ภาคประชาชนหรือจัดหาคลื่นความถี่ในลักษณะ unlicensed band เช่น คลื่นความถี่สำหรับ WiFi ให้มากขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้นหรือลดภาระให้น้อยลง ตลอดจนในอนาคตควรมีการศึกษาและจัดทำกรอบการวางแผนคลื่นความถี่ในอนาคต (Spectrum Outlook) มิใช่เฉพาะสำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่สากล หรือ IMT เท่านั้น แต่สำหรับกิจการอื่น เช่น โทรคมนาคมประจำที่ (Fix Link) เป็นต้น ซึ่งสำนักงาน กสทช. รับไว้พิจารณาต่อไป โดยที่ประชาชนทั่วไปยังคงแสดงความคิดเห็นได้จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2567

 

คลื่นความถี่ถือว่าเป็นสมบัติของชาติที่มีมูลค่าทั้งทางตรงและทางอ้อมที่สูง และด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันบนโลกดิจิทัลในยุคไร้สายที่ต้องการให้การสื่อสารไปได้ทุกที่ ทุกเวลา รวมทั้งมีความต้องการในการนำคลื่นความถี่มาประยุกต์ใช้งานในหลายกิจการ แม้กระทั่งในรอบตัวเราปัจจุบันก็ใช้คลื่นความถี่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ วิทยุ โทรทัศน์ รีโมตคอนโทรน ไม้กันทางด่วน ไวไฟ บลูทูท ฯลฯ ล้วนต้องใช้คลื่นความถี่ ไม่นับกิจการสื่อสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน หรือด้านความมั่นคง ทำให้ปัจจุบัน คลื่นความถี่ถือเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ทำให้ กสทช. ต้องบริหารและจัดสรรคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพ คุ้มค่าและทั่วถึง อย่างแท้จริง ดังนั้นการจัดทำแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่จึงต้องมีความถูกต้องเหมาะสมที่สุด” พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ กล่าว

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon