4 พลังขับเคลื่อนการส่งมอบพลังงานไฟฟ้าคุณภาพสู่สังคมของ BPP ในสหรัฐฯ

52

มิติหุ้น – “สหรัฐอเมริกา” เป็นประเทศที่มีอัตราการใช้ไฟฟ้าและแนวโน้มความต้องการไฟฟ้าสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก สอดรับกับเทรนด์การใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrification) ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยี AI และธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ต้องใช้พลังงานสูงในการจัดเก็บและบริหารข้อมูลจำนวนมหาศาล บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ในฐานะผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากล เล็งเห็นถึงโอกาสดังกล่าว ที่ผ่านมาจึงเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) อย่าง Temple l ขนาด 768 เมกะวัตต์ และ Temple II ขนาด 755 เมกะวัตต์ ในปี 2564 และปี 2566 ต่อเนื่องตามลำดับ

ด้วยจุดยืนการส่งมอบพลังงานไฟฟ้าคุณภาพสู่สังคม ซึ่งหมายถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ประกอบกับสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศยุทธศาสตร์ในการลงทุนธุรกิจผลิตพลังงานของบริษัทฯ ในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง BPP จึงมุ่งหน้าสร้างความเป็นเลิศ (Operational Excellence) ด้วย 4 พลังขับเคลื่อนเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงจากการผลิตและจ่ายไฟ พร้อมไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนี้

  1. เดินเครื่องโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในตลาดไฟฟ้าเสรี

สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ทําให้มีตลาดแบบประมูลซื้อขายไฟจำนวนมาก มีหน่วยงานกำกับแยกกันสำหรับแต่ละตลาด ปัจจุบัน BPP ได้ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าในตลาดไฟฟ้าเสรี ERCOT (Electric Reliability Council of Texas) ตั้งอยู่ในรัฐเท็กซัส โดยเท็กซัสเป็นรัฐที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ด้วยทำเลที่ตั้งระหว่างเมืองออสตินและดัลลัสที่มีการกระจุกตัวของประชากรและเป็นหนึ่งในศูนย์กลางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว การเข้าซื้อโรงไฟฟ้า Temple I และ Temple II ที่อยู่ติดกัน ส่งผลให้ BPP สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจากการแบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้ต่าง ๆ ทั้งยังสามารถบริหารต้นทุนต่อหน่วยได้ต่ำลง และสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้น (Economies of Scale: EOS) และสามารถใช้พื้นที่ส่วนกลางระหว่างโรงไฟฟ้าทั้งสองเพื่อต่อยอดขยายธุรกิจเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญยังเป็นฐานให้ BPP ขยายการลงทุนไปตลาดไฟฟ้าอื่นในสหรัฐอเมริกา อีกทั้งช่วยรักษาสมดุลระหว่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและตลาดไฟฟ้าเสรี (Balanced PPA and Merchant Market) ทำให้บริษัทฯ สามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างมั่นคงจากรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และมีโอกาสทำผลกำไรสูงจากรูปแบบตลาดไฟฟ้าเสรีในช่วงที่มีความต้องการสูงด้วยราคาที่สูงขึ้น และมีธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องหลากหลาย พร้อมนำข้อได้เปรียบของรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าแต่ละประเภทมาก่อให้เกิดโอกาสในการสร้างรายได้สูงสุด เพราะเป้าหมายของบริษัทฯ ไม่ใช่เพียงการสร้างเสถียรภาพในการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ แต่ยังต้องสร้างผลกำไรให้มั่นคงในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจที่ต้องส่งมอบผลตอบแทนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียด้วย

  1. สร้างสมดุลการทำกำไรและการสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอผ่านการใช้เครื่องมืออนุพันธ์ทางการเงิน (Hedging Tools)

การสร้างสมดุลจากการคว้าโอกาสในการทำกำไรในช่วงที่มีความต้องการสูงด้วยราคาที่สูงขึ้น และการสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากตลาดไฟฟ้าเสรีด้วยการป้องกันความเสี่ยงนั้น เป็นอีกกุญแจสำคัญที่ทำให้ BPP ประสบความสำเร็จในการสร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอและมั่นคงจากการลงทุนในตลาดไฟฟ้าเสรีในสหรัฐฯ

บริษัทฯ ใช้ประโยชน์จากเครื่องมืออนุพันธ์ทางการเงิน (Hedging Tools) ที่มีในตลาดไฟฟ้าเสรี 2 ประเภท ได้แก่ Heat Rate Call Option (HRCO) สัญญาให้สิทธิการซื้อไฟฟ้า ที่โรงไฟฟ้าจะเป็นผู้ขายสิทธิให้กับผู้ซื้อที่อาจเป็นนักลงทุนหรือสถาบันทางการเงินที่ต้องการสัญญาซื้อขายไฟในราคาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของราคาค่าไฟที่อาจสูงขึ้นจากราคาต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น โดยสิ่งที่โรงไฟฟ้าจะได้รับกลับมาคือค่าพรีเมี่ยม  (Premium) และกระแสเงินสดที่มั่นคงและแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดของปี ทั้งในเดือนที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงหรือเดือนที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าตามปกติ อีกส่วนคือ Spark Spread Hedge เป็นการทำสัญญาเพื่อล็อคราคาขายไฟและราคาต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในปริมาณและราคาที่ตกลงกันระหว่างคู่สัญญา ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถล็อคส่วนต่างดังกล่าว ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาต้นทุนเชื้อเพลิงและราคาขายไฟในตลาดได้ พูดง่าย ๆ ก็คือเครื่องมืออนุพันธ์ทางการเงินทั้ง 2 ประเภทนี้ ช่วยให้บริษัทฯ สามารถวางแผนทางการเงินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นับเป็นอีกกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ BPP เลือกใช้จากการเป็นส่วนหนึ่งในตลาดไฟฟ้าเสรี

  1. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนำ AI มาต่อยอดในการจำหน่ายไฟฟ้า

การเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งทำให้ BPP มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจในตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีที่เอื้อต่อการแข่งขันกันของผู้ผลิตและผู้ขายไฟเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค BPP ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาใช้วางแผนการผลิตและขายไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ความต้องการในตลาด ทั้งในตลาดค้าส่ง (Wholesale) ตลาดค้าปลีก (Retail) รวมถึงการซื้อ-ขายไฟฟ้า (Power Trading) ที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบเรียลไทม์ ทำให้ BPP และมีโอกาสในการสร้างกำไรที่เพิ่มขึ้น

  1. ส่งมอบพลังงานไฟฟ้าคุณภาพโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

โครงสร้างระบบรางเลื่อนอัตโนมัติแบบถาวรสำหรับสถานีสูบน้ำ (ซ้าย) และระบบหล่อเย็น  (ขวา)

นอกจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอแล้ว  BPP ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและความยั่งยืน ตัวอย่างจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า Temple l และ Temple II ที่มีการจัดการที่โดดเด่นใน 3 ด้าน คือ การจัดการคุณภาพอากาศ ด้วยเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า Combined Cycle Gas Turbines (CCGT) ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง จึงช่วยลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยผลิตภัณฑ์โดยรวมของ BPP ให้อยู่ในปริมาณที่ดีขึ้น การจัดการทรัพยากรน้ำ โรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านการขาดแคลนน้ำปานกลางถึงสูง แต่ด้วยประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ดี ทำให้สามารถนำน้ำที่ใช้แล้ววนกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยโรงไฟฟ้าจะรับน้ำใช้แล้วจากแหล่งชุมชนมาบำบัดแบบชีวภาพ (Biological treatment) ให้มีมาตรฐานเพียงพอสำหรับกระบวนการผลิตไฟฟ้า จากนั้นนำน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตแล้วมาบำบัดเพื่อวนใช้ต่อ ทำให้สามารถลดการใช้ทรัพยากรน้ำในพื้นที่ และไม่ปล่อยน้ำเสียออกสู่แหล่งน้ำภายนอก และการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในช่วงสภาวะที่มีสภาพอากาศผันผวนและรุนแรง แม้โรงไฟฟ้าสองแห่งนี้อยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศผันผวน แต่ด้วยการจัดการที่ดี เช่น ในช่วงฤดูร้อนของรัฐเท็กซัสที่มีอุณหภูมิสูงจัด BPP ได้มีการติดตั้งระบบหล่อเย็นเสริมเพื่อช่วยลดอุณหภูมิของหม้อแปลง ทำให้อุณหภูมิของหม้อแปลงอยู่ในช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมแม้จะเป็นช่วงเวลาที่เร่งผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้โรงไฟฟ้าสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นและเพิ่มโอกาสในการทำรายได้ ส่วนในฤดูหนาวที่ประสบปัญหาสถานีสูบน้ำไม่สามารถทำงานได้จากอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง บริษัทฯ ได้ติดตั้งโครงสร้างระบบรางเลื่อนอัตโนมัติแบบถาวรสำหรับสถานีสูบน้ำ ทดแทนการใช้พลาสติกป้องกันแบบชั่วคราว ทำให้การผลิตน้ำบริสุทธิ์สำหรับการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาตรการที่รัดกุมเหล่านี้ ทำให้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาของ BPP มีเสถียรภาพ และมีบทบาทสำคัญในการจ่ายไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนทั้งในช่วงปกติและวิกฤติสภาพอากาศได้อย่างต่อเนื่อง

นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า “มาตรฐานการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแฝด Temple I และ Temple II สะท้อนจุดแข็งของ BPP ในการดำเนินงานด้วยคุณภาพระดับสากล (Excellent Worldwide Operation) จากประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าเกือบ 30 ปีของ BPP ในตลาดไฟฟ้าหลากหลายรูปแบบ ทำให้เราสามารถบริหารจัดการโรงไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ละทิ้งเรื่องความยั่งยืนในทุกกระบวนการทางธุรกิจ ในแง่ผลตอบแทนในปี 2566 ที่ผ่านมา หลังจากที่ซื้อโรงไฟฟ้า Temple II ในเดือนกรกฎาคมประกอบกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากวิกฤตคลื่นความร้อนในรัฐเท็กซัสในไตรมาสที่ 3  บริษัทฯ สามารถสร้างกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ได้ถึง 12,262  ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 จากปี 2565


โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ
Temple l และ Temple ll ในสหรัฐอเมริกา

BPP ยังคงเดินหน้าสานต่อความสำเร็จด้วยแผนการลงทุนในช่วง 3 ปีนี้ (2567-2569) โดยวางงบลงทุนไว้ที่ประมาณ 500-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ CCGT (Combined Cycle Gas Turbines) เพิ่มเติม เพื่อให้บริษัทฯ สามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ และอีกส่วนเพื่อการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ ตลอดจนการศึกษาและพัฒนาพลังงานรูปแบบใหม่ ๆ  ภายใต้กลยุทธ์ Beyond Megawatts Portfolio ที่เน้นการปรับพอร์ตโฟลิโอให้ครอบคลุมมากไปกว่าการขยายกำลังผลิตไฟฟ้า”

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon