SCC มั่นใจภาพรวมทั้งปียอดขายโต 5-10% ไตรมาส 3/61 บันทึกกำไรพิเศษอย่างน้อย 948 ลบ.ครึ่งปีหลังเหลืองบลงทุน 2.2-3 หมื่นล. เล็งซื้อกิจการเพิ่ม

274

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC ผู้ประกอบการปิโตรเคมี โดยนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า คาดว่ายอดขายในครึ่งปีหลัง 2561 จะเติบโตใกล้เคียงกับครึ่งปีแรกที่มียอดขายเติบโต6% ขณะที่ภาพรวมทั้งปี2561 จะเติบโตได้ในระดับ 5-10% เนื่องจากปีนี้ภาครัฐได้ทยอยลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น นอกจากนี้แล้วการค้าระหว่างชายแดนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่ภาพความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศไทยครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโตในระดับ 1-3% จากครึ่งปีแรกเติบโตในระดับ 1% คาดว่าภาพรวมทั้งปีจะเติบโตใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีความต้องการใช้ 37 ล้านตัน

ส่วนสเปรดราคา HDPE-Naphtha ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันทรงตัวอยู่ในระดับมากกว่า 750 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจเติบโตดีขึ้นหนุนการลงทุนมากขึ้นส่งผลให้มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมากขึ้น ประกอบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมาประเทศจีนมีนโยบายไม่ให้ใช้พลาสติกรีไซเคิลส่งผลให้มีความต้องการเม็ดพลาสติกมากขึ้นทำให้ระดับราคาทรงตัวในระดับสูง แต่ช่วงที่เหลือของปีนี้ก็ต้องระหวังความเสี่ยงจากสงครามการค้าซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสเปรดราคา HDPE-Naphtha

นายเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส3/61 SCC จะบันทึกกำไรพิเศษจากการหุ้นบริษัท สยามสเตบิไลเซอร์ส แอนด์ เคมิคอลส์ จำกัด ราว 178 ล้านบาท และบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้นธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศอิหร่านที่ถือหุ้นอยู่ 64.68% ราว 770 ล้านบาท ขณะเดียวกันนี้เตรียมลงนามสัญญาเงินกู้3,200ล้านดอลล์ลาร์สหรัฐ ส.ค.61 ลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม เริ่มก่อสร้างไตรมาส3/61 เดินเครื่องผลิตปี 2566

สำหรับงบลงทุนครึ่งปีแรก 2561ใช้ลงทุนไปแล้ว 18,000 ล้านบาท ส่วนในช่วงครึ่งปีหลัง 2561 เหลืองบลงทุนราว 2.2-3 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะใช้ลงทุนในการซื้อกิจการเพิ่มเติมทั้ง 3 ธุรกิจหลักปิโตรเคมี ปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างร่วมถึงแพ็กเกจจิ้ง  นอกจากนี้บางส่วนลงทุนในเวียดนาม และขยายกำลังการผลิตโครงการโอเลฟินส์ เป็น 2.05 ล้านตันต่อปีจากเดิม 1.7 ล้านตันต่อปีโดยการขยายกำลังการผลิตจะใช้งบลงทุนราว 15,000 ล้านบาทคาดว่าแล้วเสร็จปี2563 ส่วนในปี2562 คาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 5-6 หมื่นล้านบาทโดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนต่อเนื่องโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม

ส่วนโครงการปิโตรเคมีที่อินโดนีเซียคาดว่าจะสรุปการลงทุนได้สิ้นปีนี้ส่วนการลงทุนใน EEC ซึ่งเบื้องต้นหากมีการลงทุนก็จะลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์และบริการ