10 เรื่องราวโลกเล่า เกิดอะไรขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในตอนนี้?

63

มิติหุ้น  –  สถานการณ์ของโลกในตอนนี้กำลังส่งสัญญาณหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าฝุ่นที่เพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ อุณหภูมิทั่วโลกที่พุ่งสูงจนอาจทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากมายในตอนนี้

บทความนี้จะขอชวนทุกคนมาดู 10 เรื่องราวโลกเล่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ว่าสถานการณ์ของสิ่งแวดล้อมทั่วโลกเป็นอย่างไร และมีการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับโลกอย่างไรบ้าง

“ภาวะโลกเดือด มลพิษปนเปื้อนในอากาศ”

1. โลกกำลังเข้าสู่ภาวะโลกเดือด

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 เว็บไซต์ thaipublica ระบุว่า สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แห่งมหาวิทยาลัย Maine สหรัฐอเมริการายงานอุณหภูมิโลกในช่วง 33 วันแรก ของปี 2024 พบว่า อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า เรากำลังเข้าสู่ภาวะโลกเดือด นอกจากนี้ NASA ระบุว่า ฤดูร้อนปี 2023 เป็นฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดของโลกนับตั้งแต่เริ่มการบันทึกอุณหภูมิโลกตั้งแต่ปี 1880 โดยเฉพาอย่างยิ่ง ในปี 2023 เราได้เห็นผลกระทบมากมาย ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ไฟป่าบนเกาะเมาวี รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 89 ราย ซึ่งถือว่ามากที่สุดในรอบร้อยปี 

2. ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นต่อเนื่อง

ในช่วงฤดูร้อนของปี 2023 เกิดน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือละลาย หรือ ‘เขตอาร์กติก’ จำนวน 6 หมื่นล้านตัน จากเกาะกรีนแลนด์ ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมากกว่าสองเท่าอย่างรวดเร็ว ซึ่งมากพอที่จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 2.2 มิลลิเมตร ในเวลาเพียงสองเดือน ซึ่งเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกมีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม เช่น กรุงเทพมหานคร (ไทย) โฮจิมินห์ซิตี้ (เวียดนาม) มะนิลา (ฟิลิปปินส์) และดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)

3. มลพิษทำประชากรเสียชีวิต

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงให้เห็นว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันคือมลพิษทางอากาศ โดยพบว่า มีประชากรประมาณ 4.2 ถึง ล้านคน เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทั่วโลกทุกปี และ ใน 10 คน สูดอากาศที่มีสารมลพิษในระดับสูง ซึ่ง UNICEF ระบุว่า สาเหตุของมลพิษทางอากาศส่วนใหญ่มาจากแหล่งอุตสาหกรรมยานยนต์ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้ชีวมวล

4. Fast Fashion กำลังทำให้ก๊าซคาร์บอนฯ กลายเป็นแฟชั่นทั่วโลก

ปัจจุบันอุตสาหกรรมแฟชั่นคิดเป็นสัดส่วน 10% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก ซึ่งมากกว่าภาคการบินและการขนส่งรวมกัน เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้สร้างขยะจากสิ่งทอถึง 92 ล้านตันต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 134 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2030

5. โลกร้อน มลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่สีเขียวเติบโตอย่างช้า ๆ

ในทุกปีมีการตัดต้นไม้มากกว่า 15 พันล้านต้น เพื่อการขยายพื้นที่ทางการเกษตร และการขยายตัวพื้นที่เมือง แต่พบว่า มีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพียง 1.83 พันล้านต้นต่อปี  จากรายงานของเว็บไซต์ treesdownunder เดือนธันวาคม ปี 2022 พบว่า ทั่วโลกมีต้นไม้เหลืออยู่ประมาณ 3.02 ล้านล้านต้น หรือประมาณ 422 ต้นต่อคน เท่านั้นเอง

6. โลกเปลี่ยน แต่ผู้คนไม่ได้หยุดนิ่ง…Net Zero ต้องเกิดขึ้นอย่างจริงจัง

หลายประเทศทั่วโลกกำลังค่อย ๆ เดินหน้าสู่ Net zero อย่างจริงจัง เช่น เดนมาร์ก มีโครงการ MarstalFjernvarme ที่มีการใช้เทคโนโลยีมาทำให้ชุมชนได้ใช้พลังงานความร้อนแบบหมุนเวียน ในขณะที่นอร์เวย์ ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 เริ่มหันไปใช้พลังงานน้ำ เชื้อเพลิงชีวภาพ แสงอาทิตย์ และลมมากขึ้น และเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่นำภาษีคาร์บอนมาใช้ นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีความเข้มข้นของคาร์บอนต่ำที่สุด เพราะไฟฟ้าส่วนใหญ่ผลิตจากพลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานน้ำ ขณะนี้ประเทศกำลังมองหาวิธีการหยุดใช้พลังงานนิวเคลียร์ โดยจะลงทุนในพลังงานหมุนเวียนแทน เช่น ลมและแสงอาทิตย์ และล่าสุด ประเทศไทย ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมกว่า 500 คน ร่วมสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย เปิดเสรีซื้อ-ขายไฟพลังงานสะอาด ด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และเร่งผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ

7. ประชากรยังคงขยายตัว แต่ทรัพยากรธรรมชาติบางอย่างกำลังหดตัว

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา การบริโภคของประชากร การค้าโลก และการขยายตัวในเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มนุษยชาติใช้ทรัพยากรของโลกมากกว่าที่ธรรมชาติจะผลิตเพื่อมาเติมเต็มได้ รายงานของ WWF ล่าสุดพบว่าขนาดประชากรของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปลา นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ลดลงโดยเฉลี่ย 68% ซึ่งนับเป็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ และกำลังขยายตัวมากขึ้น โดยพบว่า สัตว์บกมากกว่า 500 สายพันธุ์ ใกล้จะสูญพันธุ์และมีแนวโน้มที่จะสูญพันธุ์ภายใน 20 ปี

8. Food waste อาจนำไปสู่ภาวะโลกขาดแคลนอาหาร

Food waste หรือขยะอาหาร เป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก รายงานของเว็บไซต์ earth.org ระบุว่าในประเทศกำลังพัฒนามี Food waste คิดเป็นสัดส่วน 40% หลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูป ในขณะที่ในประเทศที่พัฒนาคิดเป็น 40% ที่ร้านค้าปลีกและผู้บริโภค โดยมีการประเมินว่าอาหารที่ถูกทิ้งในปัจจุบันสามารถเลี้ยงผู้คนได้ 200 ล้านคน ในละตินอเมริกา 300 ล้านคน และในแอฟริกา 300 ล้านคน เลยทีเดียว

9. ดินเสื่อมโทรม นำไปสู่การผลิตอาหารได้น้อยลงกว่าจำนวนประชากร

จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ พบว่า ประมาณ 40% ของดินบนโลกเสื่อมโทรมลง ซึ่งการเสื่อมโทรมของดิน หมายถึง การสูญเสียอินทรียวัตถุจากการใช้สารเคมีที่เป็นพิษของมนุษย์ ซึ่งหากเราไม่รักษาคุณภาพดิน ความมั่นคงทางอาหารของผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกจะต้องได้รับผลกระทบแบบถาวร ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มีการผลิตอาหารน้อยลงประมาณ 40% ในเวลา 20 ปี

10. ความล้มเหลวในการจัดการขยะพลาสติก

วารสารวิทยาศาสตร์ Nature ระบุว่า ปัจจุบันมีพลาสติกประมาณ 14 ล้านตัน ไหลลงสู่มหาสมุทรทุกปี ซึ่งเป็นอันตรายต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ วิกฤตการณ์พลาสติกจะเพิ่มขึ้นเป็น 29 ล้านเมตริกตันต่อปี ภายในปี 2040

และที่น่าตกใจกว่าคือ ทาง National Geographic ยังพบว่า 91% ของพลาสติกทั้งหมดที่ผลิตมานั้นไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งต้องใช้เวลาย่อยสลายถึง 400 ปี ปัญหาไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุด แต่ยังถือเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่อีกด้วย

ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นแสดงถึง ส่วนหนึ่งของวิกฤตสิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ ประเทศ ไม่ว่าจะอุณหภูมิที่สูงสุด น้ำท่วมมากที่สุด ภัยพิบัติมากที่สุด

อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนควรให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ร่วมมือกันในการลด carbon footprint สร้างสรรค์ชีวิตของพันธุ์พืชและรักษาระบบนิเวศ ส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับเราทุกคน

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon