ต้องปรับการออมอย่างไรในวันข้างหน้า เมื่อเวลากำลังนับถอยหลัง

20

มิติหุ้น  –  สังคมไทยกำลังเผชิญความไม่พร้อมหลังวัยเกษียณ สะท้อนจากข้อมูลครัวเรือนไทยส่วนใหญ่คนที่มีรายได้มากที่สุดในครัวเรือนมีอายุเกิน 50 ปี และรายได้ต่ำ (ราว 42% ของครัวเรือนไทย) จึงต้องพึ่งพารายได้นอกครัวเรือน เช่น เงินช่วยเหลือภาครัฐ และรายได้ไม่เป็นตัวเงิน (หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้รับมา) ส่งผลให้กันชนทางการเงินต่ำหากมีเหตุฉุกเฉินหรือมีรายได้ลดลง นับเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ทั้งในด้านความเปราะบางของครัวเรือนและภาระการคลัง

ผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2023 ชี้ว่า ในระยะสั้นปัญหาแก่ก่อนรวยของสังคมไทยยังน่าห่วง โดยพบว่า กลุ่มวัยทำงานใกล้เกษียณ (51-60 ปีส่วนใหญ่ยังมีสินทรัพย์น้อย โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายหลังเกษียณ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการสะสมสินทรัพย์ของกลุ่มนี้ คือ ปัญหาภาระหนี้ โดย 56% ของครัวเรือนที่มีหนี้พบว่ามีสินทรัพย์รวมไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนสูง

ในระยะยาว SCB EIC มองว่าปัญหาการออมนับเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อความพร้อมหลังเกษียณ ผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2023 พบว่า ในภาพรวมคนวัยทำงานที่สามารถออมเงินได้ทุกเดือนยังมีไม่ถึงครึ่ง และอีกราว 1 ใน 4 ที่ไม่สามารถออมได้เลย โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะเหลือเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถออมได้สม่ำเสมอ สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาภาระรายจ่ายสูงแต่รายได้ต่ำ โดยเฉพาะวัยทำงานอายุ 31 – 50 ปี ที่มีปัญหาภาระหนี้มากกว่ากลุ่มอื่น เพราะได้เริ่มก่อหนี้ก้อนใหญ่เอาไว้

SCB EIC ประเมินว่า พฤติกรรมการออมจะส่งผลอย่างมากต่อปัญหาแก่ก่อนรวยของคนไทย โดยเฉพาะคนอายุมากและรายได้ต่ำ ซึ่งผลสำรวจพบว่ามีวินัยการออมน้อยที่สุด ขณะที่คนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปี พบว่าสามารถเริ่มออมสม่ำเสมอได้ตั้งแต่ช่วงรายได้ต่ำกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยกลุ่มนี้มีพฤติกรรมเก็บก่อนใช้ได้ตั้งแต่รายได้ 30,000 บาทต่อเดือน แต่ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน กลับพบว่ายังขาดวินัยการออม ส่วนหนึ่งเพราะใช้จ่ายตามกระแสสังคมมาก ซึ่งจะต่างจากคนอายุมากกว่าที่ส่วนใหญ่เริ่มมีพฤติกรรมเก็บก่อนใช้ตั้งแต่มีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป

สำหรับผลสำรวจด้านการลงทุน พบว่าคนอายุน้อยที่มีเงินลงทุนมีสัดส่วนต่ำกว่าคนอายุมากกว่า และยังไม่ค่อยมีสินทรัพย์อื่นนอกจากเงินสดหรือเงินฝาก แม้ว่าคนรุ่นใหม่ดูจะสนใจและต้องการลงทุนมากกว่ากลุ่มคนอายุมากกว่า แต่ปัญหาขาดแคลนเงินลงทุนและความรู้ความเข้าใจในการลงทุนสินทรัพย์ทางการเงินยังเป็นอุปสรรคสำคัญของคนรุ่นใหม่

นโยบายช่วยเหลือและกระตุ้นการออมจึงต้องออกแบบให้เหมาะสมกับคนทำงานต่างวัยในแต่ละกลุ่มรายได้ เพื่อให้ปรับการออม พร้อมนับถอยหลังใช้ชีวิตหลังเกษียณได้ดีขึ้น

  1. กลุ่มที่ต้องดูแลเร่งด่วน :

1.1.    กลุ่มคนอายุต่ำกว่า 30 ปี รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐต้องส่งเสริมให้เริ่มออมเร็วที่สุด ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการออมตามระดับรายได้ในการออมภาคบังคับ พร้อมส่งเสริมความรู้ทางการเงินการลงทุนด้วยการสอดแทรกเข้าไปในช่องทาง Social media ต่าง ๆ 

1.2.    กลุ่มอายุมากกว่า 30 ปี รายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐควรช่วยออมและลดภาระผ่านช่องทางภาษีที่จูงใจ เช่น สิทธิลดหย่อนภาษี รวมถึงการต่ออายุเกษียณจาก 60 ปี เพื่อให้มีระยะเวลาหารายได้นานขึ้น

  1. กลุ่มที่ต้องเพิ่มแรงจูงใจในการออม :

2.1.    กลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปี รายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐและภาคการเงินควรเพิ่มการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เพราะมีความเข้าใจการลงทุนสูงกว่าและรับความเสี่ยงได้มากกว่า 

2.2.    กลุ่มอายุมากกว่า 30 ปี รายได้สูงกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐควรส่งเสริมพฤติกรรมออมต่อเนื่องได้ถึงเป้าหมาย และเข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินที่ให้ผลตอบแทนเพียงพอกับรายจ่ายที่สูงขึ้น สำหรับวัยใกล้เกษียณ ภาครัฐควรช่วยลดความเสี่ยงฉุกเฉินให้เพิ่มเติม โดยช่วยจ่ายเบี้ยประกันความเสี่ยงที่จำเป็น

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon