มิติหุ้น – นางนลินี งามเศรษฐมาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์โตเกียว และกลุ่มบริษัทไอร่า “การที่ทาง TSE เลือกกลุ่มไอร่า เป็น partner แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณอย่างถูกต้อง โดยเราได้รับการประเมินให้เป็นบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีการกำกับดูแลกิจการในเกณฑ์ดีเลิศ จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) อย่างต่อเนื่องถึง 5 ปีติดต่อกัน ทำให้ไอร่าเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติโดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น สังเกตได้จากหลายบริษัทชั้นนำที่เข้าร่วมทุนกับเรา เช่น บริษัท AIFUL Corporation, Kenedix Asia Pte. Ltd., NEC Capital Solutions Limited (NECAP) และ Sumitomo Mitsui Trust Bank (Thai)”
นายฮิโรกิ คาวาอิ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสฝ่ายหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (TSE) (Mr. Hiroki Kawai, Senior Executive Officer of Equities at the Tokyo Stock Exchange (TSE)) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกมากขึ้น ส่งผลให้ดัชนี Nikkei 225 ได้เพิ่มขึ้น 13% (ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2567) นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาและได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 34 ปี ที่ 40,914 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีอย่างต่อเนื่อง
โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าตลาดหุ้นโตเกียวเพิ่มขึ้นนั้น โดยหลักมาการการลงทุนของกลุ่มนักลงทุนสถาบันชั้นนำจากต่างประเทศ เนื่องจากการคาดการที่ดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและประสิทธิภาพการใช้เงินทุนของบริษัทจดทะเบียนสร้างโอกาสการเติบโตของผลประกอบการ ส่งผลให้ยอดการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศเพิ่มขึ้นที่ 49.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤษภาคม 2567
นอกจากนี่ยังมีการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยทั่วไป จากหน่วยงานสถาบันการเงินของญี่ปุ่น โดยได้ขยายโครงการบัญชีออมทรัพย์เพื่อการลงทุนนิปปอนปลอดภาษี (NISA) ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยวางเป้าหมายการลงทุนรวม 56 ล้านล้านเยน ภายในปี 2570 จาก 35 ล้านล้านเยน ในปี 2566 และ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 การซื้อผ่านบัญชี NISA ใหม่ มีมูลค่ารวมมากกว่า 6.6 ล้านล้านเยน แบ่งเป็นการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นเกือบ 3 ล้านล้านเยนผ่านบัญชี NISA
ด้านนายคาซุนากะ ซาโซ ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของแผนกการลงทุนแบบแอ็คทีฟ Sumitomo Mitsui Trust Asset Management (Mr. Kazunaga Saso, Portfolio Manager of the Active Investment Department at Sumitomo Mitsui Trust Asset Management) กล่าวเสริมว่า ดัชนี Nikkei 225 ยังคงมีศักยภาพที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและแผนส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล โดยอัตราส่วนราคาต่อกำไรของดัชนี TOPIX ของญี่ปุ่นอยู่ที่ 15.2 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 เทียบกับ 21.2 เท่าของดัชนี S&P 500 และ 13.6 เท่าของดัชนี STOXX Europe 600 ซึ่งปัจจัยหนุนที่ทำให้ดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างในรอบหลายปี รวมทั้งการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นประมาณ 35.1 ล้านคน ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 25.1 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว และมีการเข้ามาลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเซมิคอนดักเตอร์ต่างชาติ เช่น Intel, Samsung และ TSMC เพิ่มขึ้นอย่างมากในญี่ปุ่น
ส่วนนายนาโอฮิเดะ อูเนะ ผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนอาวุโสของ Investment Lab (Mr. Naohide Une, Founder and Senior Partner of Investment Lab) กล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นตลาดหุ้นที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดตั้งแต่ปี 2566 โดยได้รับการสนับสนุนจากหุ้นขนาดใหญ่ในภาคการเงิน ยานยนต์ อุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์ และ B2B จึงทำให้เชื่อว่า ตลาดหุ้นโตเกียวมีศักยภาพที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้อีก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับปรุงการกำกับดูแลกิจการและอัตรากำไรอย่างช้าๆ แต่มั่นคง รวมถึงแนวโน้มที่เป็นบวกของนักลงทุนในประเทศที่ยอมรับความเสี่ยงผ่านโปรแกรม NISA
และนายยูกิ อิชิดะ ผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มของ YCP Holdings (Global) Limited (Mr. Yuki Ishida, Director and Group Chief Executive Officer of YCP Holdings (Global) Limited) กล่าวแนะนำนักลงทุนเพิ่มเติมว่า ควรพิจารณาเลือกลงทุนในหุ้นที่มีพื้นที่ดีเป็นส่วนสำคัญ ภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (DX) การควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (M&A) โลกาภิวัตน์โดยเฉพาะในเอเชีย และการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (GX) ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทต่าง ๆ กำลังส่งเสริม DX โดยตลาด DX ทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตถึง 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2569 โดยการทำ M&A จะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับในการสร้างโอกาสการเติบโตของผลการดำเนินงานของบริษัทญี่ปุ่นรายใหญ่ที่เผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานและเงินเยนที่อ่อนค่า บริษัทต่าง ๆ ได้ใช้เงินสดจากการขายทรัพย์สินเพื่อการลงทุนเชิงกลยุทธ์ เช่น การเสริมสร้างธุรกิจหลักหรือการสำรวจธุรกิจใหม่ ๆ
ในขณะเดียวกันการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศจีนได้ลดลงประมาณ 680 พันล้านเยนตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563-2567) แต่กลับมีการลงทุนในอาเซียนและอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทญี่ปุ่นมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนแปลงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนความพยายามเหล่านี้ผ่านนโยบายที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 46% ภายในปี 2573
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon