“บล.เอเซีย พลัส” ชี้! ตลาดหุ้นไทยไตรมาส 4 “SET 1500 จุด อยู่ไม่ไกล” แนะ 7 หุ้นเด่นกำไรปี 68 โต

39

มิติหุ้น – สายงานวิจัยฯ บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) ในกลุ่มบริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ประเมินภาพในช่วงไตรมาสที่ 4 ที่ต้องติดตาม คือ 1) การเลือกตั้งสหรัฐฯ 2567 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 5 พ.ย.67 เนื่องจาก ธีมการลงทุน POLICY PLAY มักเหวี่ยงไปตามผลสำรวจว่า พรรคใดจะครองเสียงคะแนนความนิยมมากกว่ากัน 2) ติดตามการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะ Fed เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิด RECESSION และมี เป้าหมายให้เศรษฐกิจลงจอดแบบ SOFT LANDING 3). ผลพวงจากการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนครั้งใหญ่ 4) ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่มีโอกาสรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง จากนโยบายการตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น อาทิ การเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วง Golden Week, การปรับ โครงสร้างหนี้, โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2567 รวมถึงติดตามกนง. จะลดดอกเบี้ยในวันที่ 16 ต.ค. หรือ 18 ธ.ค. เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทหรือไม่

คุณเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม กรรมการบริหาร สายงานวิจัย บล.เอเชีย พลัส กล่าวเพิ่มในมุมกำไรบริษัทจดทะเบียนช่วง 2H67 มี โอกาสเติบโตเด่น 27% YoY จากฐานกำไรช่วง 2H66 ค่อนข้างต่ำ 4.6 แสนล้านบาทเท่านั้น โดยเฉพาะกำไรงวด 4Q66 ที่ต่ำ เพียง 1.7 แสนล้านบาท หนุนกำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโตได้ดีเช่นกัน นอกจากนี้ยังเห็น Bloomberg ค่อยๆ ทยอยปรับประมาณการ EPS ปี 2567 และ 2568 ขึ้นเป็น 91.5 บาท/หุ้น และ 102.7 บาท/หุ้น ตามลำดับ และมอง FUND FLOW ต่างชาติ, เม็ดเงินวายุภักษ์, THAILAND ESG FUND เกิน 1.7 แสนล้านบาท เป็นส่วนสำคัญช่วยพยุงตลาดหุ้นไทยในช่วง 4Q67 ให้มีโอกาสผันผวนน้อยลง ซึ่งเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 2567 กรณี FUND FLOW ไหลเข้าอาจจะซื้อรายบน MEYG ที่แคบลงมาในระดับ -0.5SD หรือ MEYG 3.5% ตามกลไกจะหนุนให้ตลาดซื้อขายบน P/E ที่สูงขึ้นและหนุนดัชนี เป้าหมายปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก 1450 จุด เป็น 1523 จุด ส่วนปี 2568 ฝ่ายวิจัยฯ ประเมิน ESP68F 98.8 บาทต่อหุ้น ภายใต้ดอกเบี้ยนโยบายลด 1 ครั้งที่ 2.25% และอิง MEYG ที่ 3.8% (ค่าเฉลี่ยในอดีต) จะได้ดัชนีเป้าหมายที่ 1633 จุด และถ้ากนง.ทยอยลดดอกเบี้ยเพิ่ม ก็จะช่วยผลักดันให้ดัชนีเป้าหมายขึ้นเป็น 1700 จุด

กลยุทธ์การลงทุน แนะนำสะสมหุ้นพื้นฐานแกร่ง กำไรปีหน้าเติบโต และมี ESG Rating สูง อาทิ BEM, GPSC, AOT, AP, BJC, PLANB, CBG

อัตราดอกเบี้ยโลกขาลง ความหวังที่สหรัฐฯ อาจเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ ขณะที่ลุ้นจีนออก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เอื้อต่อ Sentiment ในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง แนะทยอยสะสมหุ้น ที่มีพื้นฐานดี

คุณธรรมรัตน์ กิตติสิริพัฒน์ ผู้อำนวนการฝ่ายกลยุทธ์หุ้นต่างประเทศ มองว่า ในช่วงไตรมาส 4 นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุน Sentiment ต่อตลาดหุ้น ทั้งในส่วนของ BOJ ที่จะมีประชุมในวันที่ 31 ต.ค. ซึ่งน่าจะรอ ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งใหม่เสร็จสิ้นไปก่อน ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันจาก Unwind carry trade ลงได้ รวมทั้งแรงหนุนจากการคาดการณ์ของตลาดที่มองว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมวันที่ 17 ต.ค. หลังตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเพ้อออกมาต่ำกว่าคาด นอกจากนี้ การที่ Fed ทำให้ตลาดเชื่อมั่นได้ว่าจะนำพาเศรษฐกิจเข้าสู่ Solt landing ได้สำเร็จ จะเป็นปัจจัยบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งในอดีตดัชนี S&P500 จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10 ถึง 15% ในระยะ 3-6 เดือนหลัง Fed ลดอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจจีนหลังผ่านช่วง Golden Week รวมทั้งความคืบหน้าในรายละเอียดของมาตรการ Stock purchase และ Stock buyback ทั้งนี้ หากทางการจีนมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่เพิ่มเติม (โดยเฉพาะภาคการคลัง) อาจทำให้ตลาดเชื่อมั่นว่าภาคเศรษฐกิจจริงจะสามารถฟื้นตัวได้ในระยะกลาง และทำให้มีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น ต่อเศรษฐกิจและเห็นการทยอยปรับประมาณการจีดีพี (GDP) และผลประกอบการ (Earnings) ขึ้นหลังจากก่อนหน้านี้ ตลาดปรับขึ้นจากความคาดหวังเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี หนึ่งในความเสี่ยงสำคัญต่อตลาดจีนในระยะอันใกล้นี้คือ ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกรณีที่นาย Donald Trump ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งจะสร้างความกังวลต่อสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น

แนะนำทยอยสะสมหุ้นที่มีพื้นฐานดี รวมทั้งหุ้นที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน

ตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงไตรมาส 4 การคาดการณ์ Bond yield ไทยมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดย ปัจจัยหลักที่คือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ แนะนำเพิ่มการลงทุนในหุ้นกู้ที่ มี Duration ยาวขึ้น

ฝ่ายผลิตภัณฑ์ตลาดรอง ประเมินภาพรวมการลงทุนของตลาดตราสารหนี้ไทยยังไปได้ดีและเป็นที่ต้องการของนักลงทุน โดยเฉพาะตราสารหนี้ไทยที่มีอายุยาวและมีอันดับเครดิตตั้งแต่ Investment grade ขึ้นไป ข้อมูลจากสมาคมตราสารหนี้ ไทย หรือ ThaiBMA แสดงให้เห็นว่า สิ้นใครมาส 3 ปี 2567 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนกับ ThaiBMA ณ สิ้น 23 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 17 ลลบ. คิดเป็น 95% ของ GDP โดยเป็นตราสารหนี้ภาครัฐ มูลค่า 12.5 ลลบ. และตราสารหนี้ภาคเอกชน มูลค่า 4.5. ลลบ.

กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 เป็นการซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทย มูลค่า 59,013 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินทุนที่ไหลเข้า โดยได้อนิสงค์จากการผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) เมื่อวันที่ 17-18 ก.ย. มีมติ 11 ต่อ 1 ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 4.75- 5.00% ตามการคาดการณ์ของตลาด

โดย คุณลัพธ์พร ปานะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ตลาดรอง คาดว่าตลาดตราสารหนี้ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2567 นี้ Yield curve ของไทยยังจะมีการเคลื่อนไหวแบบ side-way down จากการสำรวจของ ThaiBMA ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาด ว่ามีโอกาสที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งในปีนี้ซึ่งอาจเป็นรอบเดือนธันวาคมซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปี โดยในเดือน ส.ค ที่ผ่านนี้ เริ่มเห็น Flow การเข้าซื้อหุ้นกู้ระยะยาวมากขึ้น โดยเฉพาะ Flow ต่างชาติที่เข้ามาซื้อตราสารหนี้อายุยาวในตลาดไทยมูลค่าเกือบ 48,000 ลบ. โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ยังถือว่าตราสารหนี้ในตลาดเป็นทางเลือกที่ มั่นคงและปลอดภัย

ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมในช่วงนี้ เพิ่มดูเรชั่น (Duration) การลงทุนในตราสารหนี้ให้ยาวขึ้น เช่น 5-10 ปี โดย ดูเรชั่น (Duration) คืออายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่ถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าปัจจุบันของกระแสดอกเบี้ยรับที่จะได้ในอนาคต ซึ่ง นักลงทุนจะได้ประโยชน์จากราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลตอบแทนในตลาดปรับตัวลดลง หรือกล่าวได้ว่ามีโอกาสขายทำกำไรได้ในอนาคตนั้นเอง

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon