มิติหุ้น – เดอะวิสดอมกสิกรไทย จัดสัมมนา “THE WISDOM Wealth Decoded ในหัวข้อ รู้ลึก รู้ทันภาษี (มรดก) ส่งต่อความมั่งคั่งอย่างมั่นคงและยั่งยืน” โดย อาจารย์จรัญญา แสงสุขดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แท็กซ์ สเปเชียลลิสท์ จำกัด และนางสาวอุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเจาะลึกถึง 4 เครื่องมือที่ใช้ในการบริหารจัดการทรัพย์สินและส่งต่อมรดก พร้อมใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การวางแผนส่งต่อความมั่งคั่งเกิดประโยชน์สูงสุดให้กับคนรุ่นต่อไป
อาจารย์จรัญญา แสงสุขดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แท็กซ์ สเปเชียลลิสท์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการสินทรัพย์และวางแผนภาษี ให้คำแนะนำว่า การบริหารจัดการทรัพย์สินและส่งต่อมรดก มีขั้นตอนเบื้องต้น คือ การสำรวจทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่ โดยทำบันทึกจัดแบ่งประเภทสินทรัพย์ และแจกแจงว่าสินทรัพย์ใดที่มีผู้ถือครองแทน โดยทรัพย์สินมรดกที่ต้องเสียภาษีมรดก เป็นทรัพย์สินที่จดทะเบียน แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน อาคาร 2) หุ้นหรือหลักทรัพย์ รวมทั้งสินทรัพย์ดิจิทัล 3) เงินฝากในสถาบันการเงิน และ 4) ยานพาหนะที่จดทะเบียน ส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดกมีอยู่หลายประเภท เช่น เงินค่าสินไหมทดแทน
จากการทำประกันชีวิต ทองคำแท่ง ธนบัตร เครื่องเพชร ของสะสมต่างๆ เช่น ภาพเขียน นาฬิกา จากนั้นจึงลงรายละเอียดภาษีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภาษีถือเป็นต้นทุนที่ต้องบริหารจัดการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยภาระภาษีที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมรดก ภาษีรับให้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีธุรกิจเฉพาะ
นางสาวอุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การวางแผนมรดก เป็นส่วนสำคัญของการวางแผนการเงินและการสืบทอดทรัพย์สิน เจ้าของทรัพย์สินและผู้ได้รับมรดกสามารถวางแผนเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถผสมผสานควบคู่กับการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อให้แผนตอบโจทย์ความต้องการ และเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้รับประโยชน์
4 เครื่องมือวางแผนมรดก ลดภาระภาษี
อาจารย์จรัญญา กล่าวว่า การวางแผนส่งมอบความมั่งคั่ง เป็นการจัดสรรและมอบสินทรัพย์ให้กับลูกหลาน หรือบุคคลอื่นที่ตนเองต้องการ เพื่อให้มั่นใจว่า สินทรัพย์ทั้งหมดจะได้รับการสืบทอดตามเจตนารมณ์ของเจ้าของสินทรัพย์ โดยเครื่องมือที่ใช้ในการส่งต่อมรดก มี 4 รูปแบบ ได้แก่ 1) พินัยกรรม 2) จัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง 3) ยกให้ระหว่างมีชีวิต และ 4) ประกันชีวิต
- พินัยกรรม เป็นการจัดสรรปันส่วนทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนเสียชีวิตให้แก่บุคคลที่ต้องการ เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากและต้องทำอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง ซึ่งสามารถทำพินัยกรรมให้กับใครก็ได้ที่เป็น “บุคคล” ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรม หรือทายาทโดยพินัยกรรรมในการรับมรดก และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม พินัยกรรมมีอยู่ 5 แบบ คือ 1) พินัยกรรมแบบธรรมดา 2) พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ 3) พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง และ 4) พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ 5) พินัยกรรมที่ทำขึ้นขณะที่อยู่ในต่างประเทศ
อาจาย์จรัญญา กล่าวถึงภาษีการรับมรดกที่กำหนดให้ผู้รับมรดกจากบิดามารดาเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่าทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นการรับมาครั้งเดียวหรือหลายครั้งก็ตาม ในขณะที่การรับมรดกจากผู้อื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่เกิน 100 ล้านบาท จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตรา 10% ของมูลค่าทรัพย์สิน
- จัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมสำหรับธุรกิจครอบครัว ด้วยการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อถือหุ้นบริษัทในเครือ หรือถือครองทรัพย์สิน โดยมีรายได้คือเงินปันผลจากการถือหุ้นในบริษัทอื่นเป็นหลัก ไม่ได้มีธุรกิจเป็นของตนเอง อาจเป็นการลงทุนทั้งบริษัทในไทยและต่างประเทศก็ได้ โดยรายได้จะอยู่ในรูปของเงินปันผล ซึ่งจะเป็นส่วนที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากเงินจำนวนนี้ได้มีการเสียภาษีมาแล้วในนามของบริษัทในเครือ ถ้ามีการเก็บภาษีอีกรอบ จะเป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อน
สำหรับรูปแบบนี้ อาจารย์จรัญญา ให้คำแนะนำว่า สิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจครอบครัวในการวางแผนจัดการมรดก คือ การจัดโครงสร้างการประกอบธุรกิจให้เหมาะสมกับธุรกิจครอบครัว ควรตรวจสอบเอกสารกำหนดข้อบังคับของบริษัท ทั้งหนังสือรับรองบริษัท วัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัท ข้อบังคับบริษัท และสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เพื่อปรับเปลี่ยนให้ตรงกับความต้องการในการส่งต่อธุรกิจ
นอกจากนี้ การจัดทำธรรมนูญครอบครัว เป็นอีกวิธีที่ควรทำ โดยถือเป็นการบริหารทรัพย์สินของกงสี ซึ่งเป็นเอกสารของครอบครัวที่ต้องวางหลักการ กฎ กติกา ของสมาชิกในครอบครัวให้ชัดเจน โดยธรรมนูญครอบครัวจะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ต้อง “เชื่อมโยง” กฎหมาย และ “สัมพันธ์” ภาษีให้ใช้งานได้จริง และสามารถกำหนดกระบวนการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดความขัดแย้งภายในครอบครัว และส่งผลทำให้ธุรกิจของครอบครัวเติบโตได้อย่างมั่นคง
- ยกให้ระหว่างมีชีวิต “การให้” เป็นการยกทรัพย์สินให้แก่ผู้รับในขณะที่ผู้ให้ยังมีชีวิตอยู่ โดยมีภาษีการรับให้ (Gift Tax) สามารถทยอยโอนทรัพย์สินให้กับผู้รับในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ได้ปีละ 20 ล้านบาท/ต่อคน/ปี โดยไม่ต้องเสียภาษี แต่ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท ทายาทเสียภาษี อัตรา 5%
- ประกันชีวิต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการวางแผนมรดก และที่สำคัญคือ การบริหารความเสี่ยง โดยระบุผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์เป็นทายาทที่ต้องการมอบทรัพย์สินก้อนสุดท้ายไว้ให้ ซึ่งสินไหมมรณกรรมที่ได้จากประกันชีวิตจะได้รับยกเว้นภาษี นอกจากนี้ ผู้รับประโยชน์ยังได้รับเงินอย่างรวดเร็วเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต เพราะเงินประกันไม่ถูกรวมเข้ากับกองมรดกจึงสามารถจ่ายให้แก่ผู้รับมรดกได้เลยโดยไม่ต้องรอการจัดการมรดก
ทั้งนี้ นางสาวอุมาพันธุ์ ให้คำแนะนำในการใช้ประกันชีวิตเพื่อบริหารจัดการภาษี ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การทำทุนประกันชีวิตเพื่อให้เพียงพอกับการชำระภาษีมรดก การแบ่งมรดกเท่าเทียม คือ สร้างมรดกให้ทายาทคนที่ไม่ได้รับกิจการโดยใช้ประกันสร้างมรดกชดเชยให้คนที่ได้สัดส่วนน้อยหรือไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของกิจการ หรือการสร้างมรดกก้อนใหญ่ ใช้เงินน้อย คือ การใช้ประกันสร้างมรดกให้บุตรหลานแต่ละคนเท่ากัน ด้วยการจ่ายค่าเบี้ยประกันซึ่งมีวงเงินไม่สูง และเก็บเงินก้อนใหญ่ไว้ใช้จ่ายในชีวิต
นางสาวอุมาพันธุ์ กล่าวต่อว่า สำหรับแบบประกันที่จะเป็นตัวช่วยในการวางแผนส่งมอบมรดก ตามรูปแบบที่ได้กล่าวมาข้างต้น ได้แก่ ประกันชีวิต พรีเมียร์ เลกาซี่ คลายกังวลเรื่องภาษีมรดกที่อาจเกิดขึ้น ตอบโจทย์เรื่องการส่งต่อมรดกได้เป็นอย่างดี เพราะทุนประกันสูง เริ่มต้นตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป และสามารถทำทุนประกันได้สูงสุดถึง 500 ล้านบาทเลยทีเดียว
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon