ปรับกลยุทธ์รับปัญหาเศรษฐกิจตุรกี

80

มาอีกประเทศแล้วครับที่เกิดปัญหาสร้างความกังวลเขย่าตลาดเงิน-ตลาดทุนทั้งโลกให้สั่นไหวกัน คือ “ตรุกี”  ผลจากมาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมของสหรัฐฯ ทำให้เศรษฐกิจตุรกีได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่สาเหตุหลักคือ เศรษฐกิจของตุรกีเองค่อนข้างจะอ่อนแอ จึงนำมาซึ่งการอ่อนค่าของเงินรีล่าของตุรกี มีแรงเทขายอย่างหนักกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยซึ่งเปิดตลาดทำการในวันอังคาร (14 ส.ค.) ปรับตัวลงตามสถานการณ์และความกังวลที่เกิดขึ้น มุมมองของ KTBST ประเมินผลกระทบจากเศรษฐกิจตุรกีที่จะมีผลต่อตลาดเงินของไทยดังนี้ครับ

 

ในด้านผลกระทบของค่าเงิน จากการที่เงินรีล่าอ่อนค่าอย่างหนักนั้น KTBST ประเมินว่า จะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงในระยะสั้น แต่เมื่อเทียบกับสกุลเงินรีล่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมากกว่า เนื่องจากประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 50% เมื่อเทียบกับ GDP ขณะเดียวกันทุนสำรองระหว่างประเทศของตุรกีนั้นอยู่ในระดับเพียง 13% เมื่อเทียบกับ GDP  ซึ่งการที่อัตราเงินเฟ้อของตุรกีนั้นทะลุเป้าหมายที่ 5% สู่ระดับ 15% เนื่องมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งคิดเป็น15% ของ GDP และงบประมาณดังกล่าวได้ดำเนินการใช้จ่ายลงทุนเกี่ยวกับห้างสรรพสินค้าเพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคในประเทศมากขึ้น (private consumption) ขณะที่การบริโภคของภาคเอกชนซึ่งคิดเป็น 71% ของ GDP นั้นจะค่อยๆ ลดลงต่อจากนี้ ส่งผลให้เกิดการขาดดุลแฝด (twin deficit) ในตุรกีขึ้น  ภาพดังกล่าวจึงเป็นสัญญาณการเทขายค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ ที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำในช่วงตั้งแต่ 15% ลงมาถึง 11% เมื่อเทียบกับ GDP อย่างแอฟริกาที่มีการอ่อนค่าลงของสกุลเงิน ZAR เมื่อเทียบกับดอลล่าร์สูงถึง 12% ในวันจันทร์ผ่านมา

 

สำหรับผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยนั้น KTBST มองว่าในระยะสั้นอาจจะถูกแรงเทขายออกมาเนื่องจากการประกาศงบไตรมาส 2 (Earning season) ที่กำลังจะหมดลง และจากความกังวลในเรื่องเศรษฐกิจของตุรกีที่กดดันตลาดโลกในระยะสั้น ทั้งนี้ เชื่อว่าเงินที่ไหลออกจากตุรกีนั้นจะเริ่มกลับเข้าไปลงทุนในตลาดพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯมากขึ้น เนื่องจากรายงานผลประกอบการณ์ ไตรมาส 2 ของสหรัฐฯที่ออกมาค่อนข้างดี รวมไปถึงตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ที่น่าจะได้รับผลดีในระยะกลางถึงระยะยาว เพราะจะเกิดการจัดสรรการลงทุนไปสู่ประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง (Safe haven with high foreign reserve to GDP)

 

ดังนั้นการลงทุนในระยะสั้นแนะนำลดการลงทุนในตลาดยุโรป เนื่องจากปัญหาตรุกีจะกระทบภาคธนาคารของยุโรปที่มีการลงทุนในตุรกีอย่างฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตุรกี ในสัดส่วน 14% ของ GDP ตุรกี หากหนี้ดังกล่าวเป็นศูนย์จะกระทบกับ GDP ของฝรั่งเศสประมาณ 4% และยังแนะนำลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯมากกว่าตลาดยุโรปครับ … เรื่องนี้คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดนะครับ

โดยชาตรี  โรจนอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ 

บล. เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KTBST)