เมย์แบงก์ จัดเสวนาระดับประเทศ “Thailand Outlook : Where Policy Meets Progress” เปิดเวที “รองนายกฯ-รมว.คลัง” ชี้ทิศทางเศรษฐกิจไทยและโอกาสการลงทุน

15

มิติหุ้น – บริษัท หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้จัดงานเสวนาครั้งสำคัญ “Thailand Outlook: Where Policy Meets Progress” ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายในการสร้างพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองทางเศรษฐกิจระหว่างผู้กำหนดนโยบาย นักธุรกิจ และนักลงทุน งานนี้ได้รับเกียรติจาก นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาเป็นประธานในพิธีและร่วมเสวนา พร้อมด้วยนักลงทุนสถาบันชั้นนำ 26 แห่ง และนักลงทุนรายย่อยจากทั่วประเทศ ซึ่งมีสินทรัพย์ในการบริหารรวมกันกว่า 6 ล้านล้านบาท

นายอารภัฏ สังขรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ เมย์แบงก์ตระหนักถึงความสำคัญในการเป็นสื่อกลางระหว่างภาครัฐและภาคการลงทุน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายและโอกาสทางเศรษฐกิจ งานเสวนา Thailand Outlook: Where Policy Meets Progress”  มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงผู้กำหนดนโยบายและนักลงทุน ให้เข้าใจถึงศักยภาพและโอกาสของเศรษฐกิจไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน และเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารประเทศระดับสูงเป็นครั้งแรก โดยมีนักลงทุนทั้งจากบริษัทจัดการลงทุนชั้นนำถึง 26 แห่ง พร้อมนักลงทุนรายย่อยจากทั่วประเทศที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกว่า 6 ล้านล้านบาท เข้าร่วมงาน เรามุ่งหวังให้เวทีนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเสริมสร้างความมั่นใจในทิศทางการลงทุน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความท้าทายทางเศรษฐกิจ อีกทั้งงานนี้ยังแสดงให้เห็นถึงพลังของชุมชนการลงทุนที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้า”

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน โดยเน้นถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนซึ่งอยู่ในระดับ 91% ของ GDP หนึ่งในตัวเลขที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อ SMEs และความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชน หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทำให้การบริโภคและการลงทุนของประชาชนมีข้อจำกัด การฟื้นฟูเศรษฐกิจจึงต้องเริ่มต้นจากการแก้ไขปัญหานี้ และเพิ่มความสามารถของภาครัฐในการลงทุนเชิงรุก นายพิชัยยังเน้นถึงบทบาทสำคัญของ GDP ในการช่วยลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน และกล่าวถึงมาตรการที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ได้แก่ การแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต: โครงการมูลค่า 400,000 ล้านบาท หรือประมาณ 2% ของ GDP ได้เริ่มดำเนินการและจ่ายเงินให้กับผู้ลงทะเบียน 14.5 ล้านคนในเฟสแรก พร้อมแผนต่อยอดช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงอายุ การปรับโครงสร้างหนี้: เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ NPL โดยเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพในการฟื้นตัว เช่น การยกเว้นดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี ครอบคลุมมูลหนี้กว่า 1 ล้านล้านบาท การเปิดรับการลงทุน: โดยมุ่งเน้นในอุตสาหกรรมยุคใหม่ เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่

นอกจากการนำเสนอนโยบายของรัฐบาล งานเสวนานี้ยังได้สร้างพื้นที่สำหรับนักลงทุนในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับศักยภาพของประเทศไทย นายพิชัยได้ย้ำว่า ประเทศไทยยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับนักลงทุนในภูมิภาค เนื่องจากความสามารถในการพัฒนาบุคลากรไทย  ความพร้อมด้านบุคลากรและทรัพยากรธรรมชาติของไทยยังคงเป็นจุดเด่นที่นักลงทุนต่างประเทศมองหา นอกจากนี้ การพัฒนาพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานสีเขียวในพื้นที่ EEC จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทยในระยะยาว อีกทั้งรัฐบาลยังตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา (R&D) ด้วยเงื่อนไขพิเศษที่ช่วยส่งเสริมการจ้างงานบุคลากรคุณภาพสูง เช่น การกำหนดค่าตอบแทนสูงกว่าปกติถึง 5 เท่า เพื่อดึงดูดบุคลากรชั้นนำ

นายพิชัยเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการพัฒนาพลังงานทางเลือกจาก สปป.ลาว ซึ่งช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพ (Biotechnology) และอุตสาหกรรมรีไซเคิล

ในส่วนการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน นายพิชัยมองถึงการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Areas–OCA) ที่ประเมินกันว่าเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณมากพอที่จะใช้ไปได้ในระยะยาว

“ประเทศไทยมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปัจจุบันอ่าวไทยมีปริมาณก๊าซธรรมชาติผลิตอยู่ได้ประมาณ 2,200 ล้าน ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนที่เหลือต้องนำเข้าจากเมียนมา​ประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งในอนาคตอีกไม่เกิน 2 ปีครึ่ง ก็จะไม่สามารถนำเข้าได้แล้ว OCA จึงถือเป็นแหล่งสำคัญ เพราะมีปริมาณก๊าซพอ ๆ กับที่มีในอ่าวไทย ถ้าสามารถเจรจาได้ข้อยุติ และสามารถผลิตก๊าซขึ้นมาใช้ได้อีกครั้งในช่วง 25 ปี ก็จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 3.25 บาทต่อหน่วยได้”

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ มาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งนายพิชัยกล่าวถึงแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่รัฐบาลดูแลอยู่ ขณะนี้ งบประมาณที่รัฐบาลใช้ในการสนับสนุนรถไฟฟ้าทุกสายอยู่ที่ประมาณ 900,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของ GDP ในขณะที่ภาคเอกชนมีค่าใช้จ่ายอีกกว่า 200,000 ล้านบาท รวมต้นทุนทั้งหมดอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ไม่รวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาทด้วย ต้นทุนที่สูงดังกล่าวส่งผลให้ต้องตั้งอัตราค่าโดยสารในระดับที่สูงเช่นกัน แต่หากรัฐบาลเป็นเจ้าของและดูแลโครงการทั้งหมด จะทำให้สามารถตั้งราคาค่าโดยสารได้ตามที่ต้องการ โดยงบประมาณอีก 200,000 ล้านบาทเชื่อว่าสามารถจัดหาได้จากการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) หรือใช้แนวทางการนำเงินออมภายในประเทศมาช่วยสนับสนุนการดำเนินโครงการ

ในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลกำลังส่งเสริมการลงทุนใน Data Center, Cloud Service และ AI ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและพลังงานสะอาด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน

“งานเสวนา “Thailand Outlook: Where Policy Meets Progress” สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ชุมชนการลงทุน พร้อมทั้งเชื่อมโยงผู้กำหนดนโยบายกับนักลงทุน เรามุ่งมั่นที่จะสร้างเวทีสำหรับการสนทนาเชิงลึก เพื่อช่วยให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจในทิศทางที่สอดคล้องกับอนาคตของประเทศไทย บทบาทของเราไม่ได้หยุดเพียงแค่การเป็นผู้นำด้านการลงทุน แต่ยังรวมถึงการเป็นพันธมิตรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน” นายอารภัฏ กล่าวสรุป

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon