ใครจะแย่ก็แย่ไป…แต่ไม่ใช่แบงก์  

297

 

มิติหุ้น-เศรษฐกิจจะฟุบ จะแฟบอย่างไร แต่กลุ่มเดียวที่ไม่ยอบแยบตาม คงหนีไม่พ้นกลุ่มแบงก์ แม้ว่าสินเชื่อจะปล่อยได้น้อยลงแต่กำไรไม่ได้ลดลงตาม NPLยังอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ และยังมีแววว่าจะเพิ่มPayout ในการจ่ายเงินปันผลด้วยซ้ำ

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุว่า  จากข้อมูลของ ธปท. ระบุว่าสินเชื่อ Q3/67  หดตัว 2.0%YoY เพราะมีการชำระคืนหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อภาครัฐและสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ อย่างไรก็ดี คาดว่าการปล่อยสินเชื่อใน Q4/67  จะดีขึ้น เพราะเป็นช่วงที่ภาคธุรกิจต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น และโครงการรัฐใช้เงินลงทุนสูงขึ้น โดยสินเชื่อช่วง 10 เดือนแรกของปี 67  ของ 7 ธนาคารที่เราวิเคราะห์หดตัว 2.3%YoY ส่วนทั้งปี 67 คาดว่าจะลดลง 0.9%YoY
ทั้งนี้ NPL ทั้งระบบเพิ่มขึ้นเป็น 5.53 แสนล้านบาทในสิ้น Q3/67  คิดเป็น NPL ratio ที่ 2.97% ของสินเชื่อรวม โดยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของ NPL ภาคธุรกิจและภาคการบริโภค  คาดว่า NPL จะยังคงเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ เนื่องจากธนาคารระมัดระวังการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงด้าน NPL
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในปี 68 มีแนวโน้มลดลง แต่บางส่วนได้รับการชดเชยจาก Credit cost ที่ต่ำลง ทั้งนี้การที่อัตราดอกเบี้ยอาจจะลดลงไม่มาก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ เป็นเรื่องที่ดีกับ NIM แต่มาตรการแก้หนี้ครัวเรือน ทำให้รายได้ดอกเบี้ยลดลง และ NIM แคบลง อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะได้รับการชดเชยด้วย Credit cost ที่ลดลงเมื่อหนี้ที่เข้าโครงการขยับชั้นดีขึ้นและ/หรือกลายเป็นหนี้ปกติ
คงให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็น Neutral…โดย KTB TTB และ BBL เป็นหุ้น Top Picks ทั้งนี้คาดว่าการปล่อยสินเชื่อใน Q4/67  จะเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ แต่สินเชื่อ SME ขนาดกลาง-เล็ก และรายย่อยยังคงซบเซา ธนาคารพาณิชย์คงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดี Valuation หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ถูก โดยมี P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า และให้ Dividend Yield สูง

KTB – มีผลดำเนินงานแข็งแกร่ง คุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และมีแนวโน้มเติบโตดี แนะนำซื้อ ให้ราคาพื้นฐาน 25 บาท
TTB – คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น จ่ายปันผลสูง และกำไรสุทธิบรรทัดสุดท้ายเติบโตดี จากมีผลขาดทุนในการปิด TBANK มาช่วยลดหย่อนภาษี แนะนำซื้อ ให้ราคาพื้นฐาน 2.12 บาท
BBL – คุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ Valuation ถูก โดยราคาหุ้นมี P/BV ต่ำเพียง 0.5 เท่า และได้อานิสงส์จากการลงทุนที่ฟื้นตัว เพราะมีฐานลูกค้าธุรกิจใหญ่จำนวนมาก แนะนำซื้อ ให้ราคาพื้นฐาน 196 บาท

 

กำไรปี 68 สุดสตรอง 

            บล.เอเซีย พลัส  คาดกำไรสุทธิกลุ่ม ปี 68  ที่ 2.4 แสนล้านบาท โต 2.7% แม้รายได้ ถูกกดดันจากการรับรู้ ผลกระทบของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรอบ ต.ค. เต็มปี  ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือ ลูกหนี้ที่เป็น Stage 2 และ NPL อาจส่งผลต่อ NIM

อย่างไรก็ดีการกลัมมาชำระคืนหนี้ของมูลหนี้ Stage 2 และ NPL ช่วยให้ สำรอง (ECL) ที่เคยตั้งให้กับมูลหนี้ดังกล่าว ถูก reverse ออกมา ตามการชำระคืน เงินต้นของลูกหนี้  ภาพรวมประเมินมาตรการ ช่วยเหลือลูกหนี้รอบนี้ น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ระดับ ECL ในปีหน้ามีพัฒนาการ กว่าปี 67

 

เล็งเพิ่มDividend payout ratio 

คงน้ำหนัก เท่าตลาด แม้การเติบโตของกำไรปี 68 ไม่เด่น แต่กลุ่มฯ ยังคงมีจุดเด่น ที่ Div yield ราว6% รวมถึงธนาคารที่ยังไม่ได้ยกระดับนโยบายเงินปันผล (Dividend payout ratio : DPR) ในช่วงที่ผ่านมา อย่าง BBL, KBANK และ KTB ในการประชุม นักวิเคราะห์รอบ Q3/67 ล้วนส่งสัญญาณเพิ่ม DPR หากเกิดขึ้น มองว่าเป็นเรื่องดี ต่อผู้ถือหุ้นธนาคาร

โดยคงให้คำแนะนำ Outperform แก่ KTB และ BBLจากแนวโน้มสินเชื่อมีแรงส่งจาก การลงทุนภาครัฐและเอกชน รวมถึงทั้งคู่มี Coverage ratio ที่ 179% และ 267% ตามลำดับ (ค่าเฉลี่ยกลุ่มฯ ที่ 174%) คาดทำให้ความจำเป็นในการตั้ง ECL ใน ระดับสูงดังที่ผ่านมาน้อยลง สนับสนุนการขยายตัวของกำไรระยะถัดไป ซึ่งชอบทั้ง คู่มากกว่า KBANK ที่มี Coverage ratio ราว 139% 

 ด้านฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI  มีมุมมอง Neutral ต่อมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เพราะมองว่าธนาคารพาณิชย์ต้องยอมหั่นรายได้ดอกเบี้ย เพื่อแลกกับอัตราการสำรองหนี้สูญที่ลดลงและคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นตลอดอายุโครงการ 3 ปี ส่วนผลกระทบต่อธนาคารจะขึ้นอยู่กับพอร์ตสินเชื่อ, จำนวนลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมมาตรการและอัตราการเข้าร่วมมาตรการ

ขณะที่ยังแนะนำให้คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) ในกลุ่มธนาคาร เนื่องจากคาดว่ากำไรก่อนตั้งสำรอง ( PPOP) จะเติบโตชะลอตัวในอัตรา 1.3-2.0% และ ROE น่าจะอยู่ที่เพียง 9.0% ในปี 68-69 โดยกลุ่มธนาคารจะมี downside risk หาก NPL เพิ่มขึ้นและมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วน upside risk จะมาจากการที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาไทยมากขึ้น, ความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ลดลงและรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon