มิติหุ้น – EXIM กระตุ้นภาคการเงินเร่งระดมทุน ปิดช่องว่างเงินเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสีเขียว ต้องการเงินเพิ่ม 10 เท่าจากเดิมมี 4.1แสนล้านบาทเพิ่มเป็น5-7ล้านล้านบาท/ปี หนุนธุรกิจไทยบรรลุข้อตกลงลดก๊าซเรือนกระจกตามแผนNCD ตอบโจทย์ข้อตกลงปารีส ลดเสี่ยง191ประเทศทั่วโลกพลาดเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิสูงไม่เกิน1.5องศา
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในงานสัมมนา SET Carbon: Digital Solution for Sustainable Business ว่า ผลการศึกษาของ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ได้ระบุถึงข้อสมมติฐาน 3 ด้านที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดว่า ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า อุณหภูมิอาจสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส โดยมีแนวโน้มที่เลวร้ายที่สุด (Worse Case) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 3.1 องศา หากยังคงเป็นสถานการณ์ปกติ (Base Case) อุณหภูมิจะอยู่ที่ 2.53 องศา และในสถานการณ์ที่ดีที่สุด อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.93 องศา ซึ่งหมายความว่าจะเกิน 1.5 องศาภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ สิ่งนี้สวนทางกับข้อตกลงปารีส ที่ทั้ง 191 ประเทศได้ร่วมลงนามเพื่อรักษาอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100
ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ จำเป็นต้องกระตุ้นให้มีการลดคาร์บอน โดยมีการติดตามการปล่อยคาร์บอน (Carbon Footprint) และก๊าซเรือนกระจก (GHG) ในภาคธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอนาคต การติดตามนี้จำเป็นต้องพิจารณาทั้งสามสโคป ได้แก่ สโคป 1 การดำเนินกิจกรรมการผลิตภายในองค์กร สโคป 2 การใช้วัตถุดิบและการนำเข้าพลังงาน สโคป 3 เครือข่ายซัพพลายเชน ซึ่งประเทศไทยมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมกว่า 3.1 ล้านราย ที่ไม่สามารถควบคุมดูแลได้ ส่งผลให้การวัดผลการปล่อยคาร์บอนเป็นเรื่องท้าทาย
ในขณะเดียวกันทั่วโลกต้องการระดมเงินทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Finance) ซึ่งจะช่วยหยุดไม่ให้เกิดหายนะต่อโลก หากต้องการลดอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศา จะต้องใช้เงินทุนราว 7.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือมูลค่ารวม 38 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2593 ซึ่งจะเป็น 5 เท่าของเม็ดเงินในปัจจุบันที่มีอยู่ที่ 5.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับประเทศไทย มีความต้องการสินเชื่อหรือเม็ดเงินสีเขียวเพื่อบรรลุข้อตกลงแผนNCD (Nationally Determined Contributions) ภายในปี 2573 มูลค่า 5-7 ล้านล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันสินเชื่อที่ปล่อยโดยสถาบันการเงินในตลาดมีมูลค่ารวม 4.11 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น Green/Blue Bond มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท สินเชื่อสีเขียว ราว 2.71 แสนล้านบาท
ทำให้สามารถกล่าวได้ว่ายังมีช่องว่างในความต้องการในการเปลี่ยนผ่านทางการเงินถึง 12-17 เท่า หรือเฉลี่ยปีละ 4.6-6.6 ล้านล้านบาทต่อปี
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon