สำนักงาน กสทช. จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ ร่างประกาศ กสทช.

19

มิติหุ้น  –  สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (สำนักงาน กสทช.) ได้จัดงานการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz และ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุฯ ที่เกี่ยวข้อง โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก  นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เข้าร่วมเป็นประธานในการเปิดงาน

“ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือกว่า 100 ล้านราย โดยใช้เครือข่าย 4G ประมาณ 99.15% และ 5G ประมาณ 91% ทั่วประเทศ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2572 จะมีความต้องการใช้งานบรอดแบนด์เคลื่อนที่ภายในประเทศมากถึง 1,156 GB ต่อคนต่อปี และจะมีการประยุกต์ใช้ Smart 5G ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การผลิตของภาคการเกษตร การจัดระเบียบเมืองให้ปลอดภัย การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่แม่นยำ การพัฒนาด้านการศึกษา รวมถึงการพัฒนาระบบการสื่อสารความเร็วสูงให้มีความทันสมัย รองรับกับความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะระบบสาธารณสุข การเข้าถึงทางการแพทย์ ที่ต้องอาศัยข้อมูลเพื่อช่วยเหลือชีวิตคนอย่างทันท่วงที ดังนั้น กสทช. จึงมุ่งมั่นที่จะขยายเครือข่าย 5G เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนและทุกภาคส่วน จะได้รับความสะดวกสบายในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่สามารถเชื่อมต่อ และส่งข้อมูลได้ในทันที หากมองไปไกลกว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ กสทช. มุ่งหวังที่จะผลักดัน ให้เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถเข้าถึงทุกคนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม แม้ในพื้นที่ห่างไกล ผ่านระบบโทรคมนาคม ด้วยการใช้ประโยชน์ในระบบสาธารณสุข การเงิน การขนส่ง และการผลิต โดยมีคลื่นความถี่เป็นปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนา ซึ่งแน่นอนว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อนำไปใช้งานในภาคส่วนต่าง ๆ ” ประธาน กสทช. กล่าว

ประธาน กสทช. กล่าวเพิ่มเติม ว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลล้ำยุค อย่าง AI ที่ทั้งหน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชน เริ่มเตรียมความพร้อมนำไปใช้งานอย่างกว้างขวาง รวมถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมอื่น ๆ เช่น 5.5G คลาวด์ และ Use case ใหม่ ๆ ซึ่งต้องอาศัยคลื่นความถี่ และระบบโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ และสอดประสานกัน เพื่อเป็นกลไกในการผลักดันขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนผ่านระบบอัจฉริยะ แห่งอนาคต นำไปสู่การสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล จะสร้างความเชื่อมั่นและผลักดันนโยบายจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสและยุติธรรม ด้วยการออกแบบหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และเกิดการแข่งขันอย่างแท้จริงในการประมูล เพื่อให้เกิดการนำคลื่นความถี่ไปต่อยอดการใช้งานที่สร้างคุณค่าให้กับสังคม สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัล ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์ นำไปสู่ความสำเร็จในการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุค 5G and beyond

        การประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ ร่างประกาศ กสทช.ฯ นี้ ได้จัดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 โดยได้เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ทั้ง ฉบับข้างต้น ซึ่งสามารถนำส่งแบบแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2568 จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ในเวลา 16.30 น.

        สำหรับการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลในครั้งนี้ มีทั้งหมด 6 ย่านความถี่ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ คลื่นความถี่แบบเป็นคู่ (Paired band) เทคโนโลยี FDD คือ ย่าน 850 MHz รองรับ 3G ย่าน 1800 MHz รองรับ 34และ ย่าน 2100 MHz รองรับ 34G คลื่นความถี่แบบไม่เป็นคู่ (Unpaired band) เทคโนโลยี SDL และ TDD คือ ย่าน 1500 MHz รองรับ 3G ย่าน 2100 MHz รองรับ 34G ย่าน 2300 MHz รองรับ 34และสามารถพัฒนาไปสู่ 5G ได้ และคลื่นความถี่ย่านสูง (High band) เทคโนโลยี TDD คือ ย่าน 26 GHz รองรับ 5G การประมูลคลื่นความถี่นี้ จะประมูลด้วยวิธี Clock Auction ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการประมูล Multiband ในปี 2563 โดยได้มีการปรับปรุงเพื่อให้สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คาดการณ์ว่า จะสามารถจัดประมูลได้ภายในไตรมาส 2 ในปี 2568 เพื่อให้ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มีคลื่นความถี่ที่เพียงพอ สำหรับรองรับการใช้งาน และสามารถใช้งานต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon