CGSI : กลุ่มโทรคมนาคมไทย มีความไม่แน่นอนจากผลกระทบการประมูลคลื่นความถี่ต่อกระแสเงินสดอิสระ ยังแนะนำ “ถือ”  

17

มิติหุ้น – ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า ราชกิจจานุเบกษาประกาศให้วันที่ 29 มิ.ย.68 เป็นวันประมูลคลื่นความถี่ 4 ย่าน คือ 850MHz, 1500MHz, 2100MHz และ 2300MHz ตามมติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทั้งนี้กสทช.จะเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมประมูลระหว่างวันที่ 29 เม.ย.- 28 พ.ค.68 หลังจากนั้น จะประกาศผู้ที่ผ่านคุณสมบัติวันที่ 19 มิ.ย.68 และจัดการประมูลจำลอง (mock-up auction) วันที่ 23 มิ.ย.68 โดยกสทช.จะยังไม่ประมูลคลื่นความถี่ 3500MHz ในปลายเดือนมิ.ย.68 เพราะย่านความถี่นี้ใช้งานโดยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล

ฝ่ายวิเคราะห์ฯ ระบุว่า ราคาเริ่มต้นประมูลของคลื่นความถี่ปรับเพิ่มขึ้น 17-55% จากประกาศในเดือนก.พ.68 โดยราคาขั้นต่ำของย่านความถี่ 2100MHz และ 2300MHz เพิ่มขึ้นถึง 33% และ 55% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าคลื่นความถี่ดังกล่าวเป็นที่ต้องการของบริษัทโทรคมนาคม อย่างไรก็ตาม มองว่าย่าน 850MHz และ 1500MHz อาจไม่สามารถขายออกไป เพราะมีข้อจำกัดด้านการให้บริการในอนาคต

ทั้งนี้ ราคาเริ่มต้นประมูลใหม่ของย่านความถี่ 2100MHz ต่ำกว่าราคาประมูลสุดท้ายในการประมูลรอบที่แล้ว 14% ขณะที่ฝ่ายวิเคราะห์ฯไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับราคาประมูลสุดท้ายของย่านความถี่ 850MHz และ 2300MHz เพราะถือโดยบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ระบุว่า กสทช. ไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการประมูลและเงื่อนไขการชำระเงินตามที่ AIS และ True Corp เสนอระหว่างการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 68 ขณะที่กสทช.จะแบ่งย่านความถี่ออกเป็นสามกลุ่ม คือ low band (850MHz), mid band ของย่านความถี่ 2100MHz และ 2300MHz, และ mid band ของย่านความถี่ 1500MHz นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลจะประมูลด้วยวิธี clock auction ซึ่งจะ ประกอบด้วยสองขั้นตอน คือ การจัดสรรคลื่น (allocation stage) และการกำหนดย่านความถี่ (assignment stage) โดยในขั้นตอนที่สองนั้น กสทช.จะใช้การประมูลแบบปิดราคา (first-price sealed bid) ส่วนเงื่อนไขการชำระเงิน จะแบ่งการชำระเงินออกเป็นสามงวด คือ  50% ของราคาชนะประมูลก่อนได้รับใบอนุญาต, 25% ในปีที่สามและ 25% ในปีที่สี่

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ยังแนะนำให้คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) กลุ่มโทรคมนาคมไทย เพราะยังมีความไม่แน่นอนจากการประมูลคลื่นความถี่ในเร็วๆนี้ โดยมองว่านักลงทุนควรรอผลการประมูล ซึ่งจะทำให้เห็นภาพกระแสเงินสดอิสระในอนาคตของทั้งสองบริษัทได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะที่กลุ่มโทรคมนาคมไทยอาจมี downside risk หากผู้ประกอบการแข่งขันกันเสนอแพ็คเกจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบรอดแบนด์รายเดือนกันมากขึ้น, การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว รวมทั้งการจัดประมูลคลื่นความถี่

ขณะที่มี upside risk หากสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าใช้จ่ายโครงข่ายและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) รวมถึงการที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นสุทธิมากกว่าคาด

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon