มิติหุ้น-กฟน.ทุ่มกว่า1,275 ล้านบาทจ่ายระบบไฟฟ้าสถานีกลางบางซื่อศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับอาเซียน เตรียมจับมือ 3 การไฟฟ้าพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายไฟฟ้า
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า โดยนายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่าโครงการนี้รองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้สูงสุด 1,200 เอ็มวีเอ (MVA) เทียบเท่าประมาณ 5 เท่าของศักยภาพระบบจ่ายไฟฟ้าให้กับนิคมอุตสาหกรรมบางปู ซึ่งในส่วนที่ รฟท.จะเปิดพื้นที่เป็นสมาร์ทซิตี้นับว่าเป็นเรื่องที่ดีแต่ตามข่าวทราบว่า บมจ.ปตท.ซึ่งอาจจะเป็นผู้ลงทุนสมารทซิตี้ จะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่นี้ คงเป็นเรื่องไม่เหมาะสมเพราะเป็นการลงทุนซ้ำซ้อน และเป็นพื้นที่กลางเมืองมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและเสี่ยงหากเกิดวินาศภัย
สำหรับการคาดการณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดแบ่งออกเป็น ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟฟ้าความเร็วสูงทุกสายที่ผ่านสถานีกลางบางซื่อ เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพ-หนองคาย รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินแบบไร้รอยต่อ (สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และสถานีกลางบางซื่อ 300 เอ็มวีเอ รวมถึงพื้นที่พัฒนาฯ อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ Smart city อีก 300 เอ็มวีเอ นอกจากนี้ยังสามารถจ่ายไฟให้แก่พื้นที่โดยรอบที่อยู่ภายนอกโครงการได้อีก 600 เอ็มวีเอ รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,200 เอ็มวีเอ โดยใช้งบลงทุนทั้งสิ้น 1,275 ล้านบาท
นอกจากนี้ กฟน. ได้บูรณาการร่วมกับ กฟผ. เตรียมพร้อมระบบสำรองไฟฟ้าในกรณีเหตุฉุกเฉินโดยสามารถสับถ่ายเพื่อเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจ่ายไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายสถานีไฟฟ้าแรงสูงข้างเคียงของ กฟผ.ในพื้นที่โดยรอบจำนวนกว่า 3 สถานี (สถานีไฟฟ้าแจ้งวัฒนะ พระนครเหนือ และลาดพร้าว)
ด้านนายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ รองผู้ว่าการวิชาการและบริหารพัสดุ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า ขณะนี้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งซึ่งประกอบกับกฟน. ,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง National Energy Trading Platform (NETP) หรือ แพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานแห่งชาติ เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่
โดยเฉพาะการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ปัจจุบันจะเริ่มมีการซื้อขายระหว่างเอกชนด้วยกันเอง และหากมีพลังงานส่วนเกินเหลือและต้องการจะส่งขายกลับเข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ ของ 3 การไฟฟ้า จึงต้องมีแพลตฟอร์ม NETP เข้ามาเป็นกลไกบริหารจัดการไฟฟ้าส่วนเกินไม่ให้สูญเปล่า หรือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ในการซื้อและขายไฟฟ้าระหว่างกัน โดยได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ศึกษาด้วยงบประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 62
ที่มา: กฟน.
www.mitihoon.com