กฟผ.ชงสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะรีเพรสเม้น 2

596

มิติหุ้น – กฟผ.เล็งชงแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ยูนิต 8-9 ที่จะหมดอายุปี 2563 ขนาด 650 เมกะวัตต์ ด้าน “ศิริ”ยัน แผนพีดีพีฉบับใหม่ ไม่ตัดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชี้เป็นทางเลือกกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (พีดีพี) ฉบับใหม่ ที่เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ โดยยืนยันว่า เชื้อเพลิงถ่านหินยังเป็นทางเลือกในแผนพีดีพี ที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และในอนาคตประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่ (IPP) เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

ด้านนายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.อยู่ระหว่างพิจารณาจัดทำแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มาทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ยูนิตที่ 8-9 หรือ แม่เมาะรีเพลสเม้น 2 (Mae Mo Replacement 2) ที่จะหมดอายุในปี 2563 ซึ่งจะตั้งอยู่ในพื้นที่เดิม ขนาด 650 เมกะวัตต์ ให้เงินลงทุนใกล้เคียงกับโครงการแม่เมาะรีเพลสเม้น 1 ที่สร้างทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ยูนิตที่ 4-7 ขนาด 650 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนราว 3.5 หมื่นล้านบาท โดยจะต้องนำเสนอแผนดังกล่าวให้กระทรวงพลังงานพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนนั้นจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี

ส่วนความคืบหน้าโครงการแม่เมาะรีเพลสเม้น 1 เป็นไปตามแผนอยู่ในช่วงทดสอบประสิทธิภาพการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า โดยจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ในเดือน พ.ย.นี้ ขณะที่ในปี 2570 โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ยูนิตที่ 10-13 จะเริ่มทยอยหมดอายุลงเช่นกัน ซึ่งจะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคเหนือหายไปราว 1,200 เมกะวัตต์ หากไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าทดแทน โดย กฟผ.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนว่าจะสามารถสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนได้หรือไม่ เพราะจะต้องดูปริมาณสำรองถ่านหินด้วย ซึ่งจะต้องเพียงพอป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าตลอดอายุสัญญา 30 ปี โดยปัจจุบัน ถ่านหินมีปริมาณสำรองประมาณ 300-400 ล้านตัน มีการใช้อยู่ที่ 16 ล้านตันต่อปี แต่ในอนาคตหากโรงไฟฟ้าแม่เมาะทยอยหมดอายุลงจะทำให้ปริมาณการใช้ถ่านหินลดลง 50% หลังปี 2570 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือนต.ค.นี้ กฟผ.เตรียมออกประกาศเปิดให้ผู้ผลิตหรือผู้ค้าก๊าซแอลเอ็นจีในตลาดสากล ยื่นเสนอซองเอกสารแข่งขันด้านราคาในการนำเข้าแอลเอ็นจี ปริมาณ 0.8-1.5 แสนตันต่อปี หลังจากมีผู้ยื่นเอกสารแสดงความสนใจ(REOI)จำนวน 43 ราย ซึ่งกฟผ.มีแผนที่จะนำแอลเอ็นจีไปให้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าวังน้อย ยูนิตที่ 4 และปริมาณที่เหลือจะนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าบางปะกงต่อไป

www.mitihoon.com