มิติหุ้น – ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT โดยนายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2561 มีกำไรสุทธิจำนวน 537.4 ล้านบาท ลดลง 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่กำไรก่อนภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นจำนวน 41.0 ล้านบาท หรือ 5.9% เป็นจำนวน 736.6 ล้านบาท โดยมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงาน และการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ขณะที่กำไรสุทธิงวดไตรมาส 3/2561 อยู่ที่ 177.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 133% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 76.54 ล้านบาท
สำหรับรายได้จากการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2561 อยู่ที่ 10,085.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 246.6 ล้านบาท หรือ 2.5% โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 338.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.4% จากการขยายตัวของสินเชื่อ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจำนวน 35.1 ล้านบาท หรือลดลง 2.4% ซึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและบริการ ส่วนรายได้อื่นลดลงจำนวน 56.7 ล้านบาท หรือ 7.4% เนื่องจากการลดลงของกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศและกำไรสุทธิจากเงินลงทุน
ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2561 เพิ่มขึ้น 586.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.8% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์การขยายงานของธนาคารภายใต้โครงการ “Fast Forward” และขาดทุนจากการขายทรัพย์สินรอการขาย ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 59.7% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่อยู่ในระดับ 55.2%
ขณะที่เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชีของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 219.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 กลุ่มธนาคารมีเงินฝากจำนวน 231.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3% จากสิ้นปี 2560 ซึ่งมีจำนวน 220.1 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารลดลงเป็น 95.0% จาก 96.8% ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560
ด้านสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 1.26 หมื่นล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ 5.7% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 อยู่ที่ 4.8% เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นในสินเชื่อด้อยคุณภาพของลูกค้าพาณิชย์ธนกิจในช่วง 9 เดือนปี 2561 และการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น รวมถึงมีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแลและการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 อยู่ที่ 94.1% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 93.2% ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 เงินสำรองของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 1.18 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 4.6 พันล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 17.7% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 12.4%