NIDA คาดเศรษฐกิจไทยโค้งสุดท้ายคึกคัก ดันจีดีพีโตตามคาด 4.5% รับอานิสงส์ส่งออกบูม ท่องเที่ยวฟื้น เลือกตั้งชัดเจนดึงเงินสะพัดกว่า 5 หมื่นล้าน ประเมินปัจจัยสงครามการค้ายังกดดันหวังภาครัฐกระตุ้นการลงทุน
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับนักบริหาร (MPPM Executive program) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 นี้ยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของภาคส่งออกและการท่องเที่ยวที่เติบโตได้ดี รวมถึงความคึกคักในช่วงใกล้ถึงการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ช่วยสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง NIDA จึงคาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จีดีพีมีแนวโน้มขยายตัวได้ 4.5%
ทั้งนี้ ปัจจัยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 จะได้รับแรงหนุนที่สำคัญจากปัจจัยการขยายตัวของรายได้จากต่างประเทศ ที่มีน้ำหนักต่อจีดีพีสูงถึง 78% โดยการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา และคาดว่าจะรักษาระดับการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 4 โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ กลุ่มประเทศอาเซียน ที่มีสัดส่วนการส่งออกในระดับ 26% รองลงมา คือ ประเทศจีน 12% และสหรัฐอเมริกา 12% โดย NIDA คาดว่า การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในปีนี้ จะเติบโตจากปีก่อนในระดับ 8%
ส่วนแนวโน้มชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยที่ถือว่าเป็นเส้นเลือดหลักของการเติบโต พบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติยังเติบโตได้ดี แม้ว่าในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจากประเทศจีนชะลอตัวลงจากเหตุการณ์เรือล่มในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ประกอบกับมีภาพเหตุการณ์ รปภ.ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ทำร้ายนักท่องเที่ยวจีนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งการเข้าแก้ไขปัญหาที่ทันเวลาของภาครัฐจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนให้เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกครั้ง รวมถึงสนับสนุนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางข้ามแดนมาประเทศไทยในปีนี้ได้ตามเป้าหมายที่ 38 ล้านคนในปีนี้ ส่วนมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในประเทศไทยคาดว่าจะขยายตัวจากปีก่อนที่ระดับ 10 %
สำหรับปัจจัยในประเทศนั้น แนวโน้มไตรมาสที่ 4 น่าจะมีทิศทางการขยายตัวที่ดี โดยปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ การเข้าใกล้ช่วงการเลือกตั้ง ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 2562 จะช่วยให้กำลังซื้อภายในประเทศฟื้นตัว ซึ่งจากสถิติในอดีต พบว่า การเลือกตั้งทั่วไปแต่ละครั้งจะมีเงินสะพัดภายในระบบเศรษฐกิจประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ในช่วงก่อนถึงวันเลือกตั้งประมาณ 3 เดือน จึงคาดการณ์เม็ดเงินดังกล่าว จะเริ่มเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจในเดือนธันวาคมนี้ ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และจะสร้างการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจไทยได้ในระดับ 5 หมื่นล้านบาท
ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ คือ ภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 78 % ต่อจีดีพี จะเป็นปัจจัยฉุดการอุปโภคบริโภคภายในประเทศให้ฟื้นตัวได้ล่าช้า และในขณะเดียวกันการใช้กำลังการผลิตของภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้โอกาสการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตนั้นอาจไม่เกิดขึ้น