“7 หลุมพราง” กับดักมรณะเอสเอ็มอี

183

มิติหุ้น – ธนาคารทหารไทย หรือ TMB แนะแนวทางการก้าวสู่ความสำเร็จของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดย นางสาวชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับ SME ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีธุรกิจเกิดใหม่กว่า 70,000 รายต่อปี แต่มีเพียง 50% เท่านั้น ที่ก้าวผ่านปีแรกไปได้ และเมื่อผ่านปีแรกไปได้จะมีธุรกิจอีกราว 10% ที่ไปไม่ถึงฝัน และต้องปิดตัวไปอย่างน่าเสียดาย กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต่อยอดไปสู่การศึกษาวิจัยพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของ SME ไทย เพื่อค้นหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับ SME ที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน? ภายใต้หัวข้อ ‘7 หลุมพรางของ SME ที่ทำให้ธุรกิจไม่ไปถึงฝั่งฝัน’

โดยจากการสำรวจทางออนไลน์กับกลุ่มผู้ประกอบการ SME ไทยทั่วประเทศ ที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 1-50 ล้านบาทต่อปี แบบคละประเภทธุรกิจ คละอุตสาหกรรม จำนวน 200 คน ที่ทีเอ็มบีทำร่วมกับบริษัทวิจัยชั้นนำที่ได้รับการยอมรับ ได้แบ่งวงจรชีวิตของ SME ออกเป็น 3 ช่วงสำคัญ คือ ช่วงเริ่มต้น (Start) ช่วงพัฒนาและช่วงอิ่มตัว (Growth & Mature) ซึ่งทีเอ็มบี ได้วิเคราะห์และนำเสนอเป็นบทสรุป ‘7 หลุมพรางของ SME ที่ทำให้ธุรกิจไม่ไปถึงฝั่งฝัน’ ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของ SME ไทยในปัจจุบัน ดังนี้

  1. ใช้เงินทุนโดยไม่วางแผน โดย 84% ของ SME ใช้เงินเก็บส่วนตัวหรือของครอบครัวมาใช้เป็นเงินตั้งต้นธุรกิจ หากธุรกิจผิดพลาดตนเองและครอบครัวย่อมจะได้รับผลกระทบทันที ที่น่าสนใจคือ SME ราว 27% เลือกใช้เงินทุนตั้งต้นธุรกิจจากการใช้บริการสินเชื่อและการกดเงินสดจากบัตรเครดิต โดยยอมแบกรับกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินความคุ้มค่าระหว่างดอกเบี้ยกับกำไรของธุรกิจ
  2. ทำธุรกิจโดยไม่ใช้แผนธุรกิจ การวางแผนธุรกิจเป็นสิ่งที่จะทำให้ SME เติบโตอย่างยั่งยืน แต่ SME มากถึง 72% ยอมรับว่าถึงจะมีแผนธุรกิจหรือไม่มีก็ตาม ก็ไม่เคยทำตามแผน เนื่องจากหมดเวลาไปกับการแก้ปัญหารายวัน และปัญหาเฉพาะหน้า
  3. ‘กระเป๋าธุรกิจ’ และ ‘กระเป๋าส่วนตัว’ คือกระเป๋าเดียวกัน พบว่า 67% ของ SME มีพฤติกรรมการใช้ ‘เงินธุรกิจ’ กับ ‘เงินส่วนตัว’ ปนกัน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการดำเนินธุรกิจให้เติบโตในระยะยาว
  4. ยอดขายสูง…แต่อาจไม่กำไร การทราบต้นทุนที่ถูกต้องและครบถ้วน เป็นเครื่องการันตีกำไรของธุรกิจ แต่ 37% ของ SME เคยทำพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการขายของขาดทุน ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ 14% ลดราคาสินค้าโดยไม่ได้พิจารณาถึงต้นทุน 14% ลืมใส่เงินเดือนตัวเองลงไปในต้นทุนสินค้า และ 9% คิดเพียงว่าแค่ขายสินค้าให้มากกว่าราคาวัตถุดิบ ก็เท่ากับได้กำไร
  5. ทุ่มเวลากับการผลิต จนไม่มีเวลาให้การตลาด พบว่า SME ถึง 87% ไม่มีเวลาให้กับการตลาด ทำให้พลาดในการสร้างจุดเด่นหรือสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
  6. ONE MAN SHOW…NO Stand-in น่าตกใจว่า 70% ของ SME ไทย ไม่สามารถหาบุคคลที่จะมาเป็น

‘ตัวตายตัวแทน’ ที่จะตัดสินใจทางธุรกิจแทนได้เลย ขณะที่ 49% ยอมรับว่าพบปัญหาธุรกิจสะดุด หากตนเองไม่อยู่ดูแลหรือขายสินค้าเองในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ยอดขายลดลง ออเดอร์หรือฐานลูกค้าหายไปทันที

  1. ไม่พร้อมรับมือกับสิ่งใหม่ จากข้อมูลพบว่ามี SME ถึง 62% ที่ขยันสรรหาสิ่งใหม่ๆ มาเพื่อพัฒนาธุรกิจเสมอ ขณะที่อีก 38% ยังไม่พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ เหตุผลส่วนใหญ่คือ 19% เกรงว่าจะมีปัญหาในช่วงเริ่มต้นสิ่งใหม่ 14% ไม่เปิดรับหรือไม่มีเวลาหาข้อมูลสิ่งใหม่ๆ และ 5% มองว่าธุรกิจที่ทำอยู่นั้นดีอยู่แล้ว จึงไม่สนใจที่จะเปลี่ยนแปลงใดๆ