เศรษฐกิจไทยเดือน ต.ค.ยังขยายตัว แรงหนุนจากบริโภค-ลงทุนเอกชน

342

มิติหุ้น – เศรษฐกิจไทยเดือน ต.ค.61 โตต่อ แรงขับเคลื่อนจากการบริโภคและลงทุนภาคเอกชน ยอดขายรถยนต์สูงสุดรอบ 70 เดือน ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์สูงสุดรอบ 65 เดือน ส่งออกกลับมาขยายตัว ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวเล็กน้อย

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคมปี 2561 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2561 ได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน  สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 เดือน  ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวสูงสุดในรอบ 70 เดือน  และปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวสูงสุด 65 เดือน  ขณะที่สถานการณ์การส่งออกกลับมาขยายตัวโดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีนกลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า ขณะที่สถานการณ์การท่องเที่ยวต่างชาติยังคงหดตัวเล็กน้อย

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนในเดือนตุลาคม  2561 ขยายตัว  สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 14.1  ต่อปี และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนตุลาคม 2561  กลับมาขยายตัวขึ้นร้อยละ 1.9 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งในเขต กทม.  ร้อยละ 3.9 ต่อปี และเขตภูมิภาคร้อยละ 1.2 ต่อปี นอกจากนี้  ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.1 ต่อปี  ขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 เดือน  และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ  68.4 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีจากทั้งจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและการลงทุนในหมวดก่อสร้าง  โดยปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2561  ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 36.0 ต่อปี คิดเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 70  เดือน  นอกจากนี้ ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ  14.9 ต่อปี และปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ขยายตัวที่ร้อยละ 13.8  ต่อปี ขยายตัวสูงสุดในรอบ 65 เดือน ตามการขยายตัวของโครงการก่อสร้างพื้นฐานภาครัฐ

ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว  โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนตุลาคม 2561 มีมูลค่า 21.8  พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 8.7 ต่อปี  โดยการส่งออกขยายตัวในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคเอเชีย เช่น  ญี่ปุ่น CLMV เป็นต้น นอกจากนี้ การส่งออกไปยังสหรัฐฯ  และจีนกลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 22.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนตุลาคม 2561 ขาดดุลจำนวน 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2561  มีจำนวน 2.71 ล้านคน หดตัวร้อยละ 0.5 ต่อปี  จากการหดตัวต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี  นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซีย  ที่ขยายตัวในระดับสูงร้อยละ 22.4 ต่อปี นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวฮ่องกง  ลาว กัมพูชา และญี่ปุ่น ขยายตัวได้ดีเช่นกัน ทั้งนี้
ส่งผลทำให้เดือนตุลาคม2561 มีรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศ มูลค่า 141,061 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อปี

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี  และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี  โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันส่งผลให้ราคาสินค้าหมวดพลังงานสูงขึ้น  อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าหมวดอาหารสดลดลง  เนื่องจากเป็นฤดูที่สินค้าผักและผลไม้หลายชนิดออกสู่ตลาด  ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี

สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.0  ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.8 แสนคน  ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561
ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 41.7 ต่อ GDP  ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกินร้อยละ 60  ต่อ GDP ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561