วันนี้ (4 มกราคม 2562) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิด การสัมมนา “การสื่อสารนโยบายสู่ภาคปฏิบัติของกระทรวงพลังงาน ปี 2562”ว่า การสัมมนาดังกล่าว กระทรวงพลังงานจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อให้บุคลากรของกระทรวงพลังงานทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค โดยเฉพาะพลังงานจังหวัดซึ่งถือเป็นด่านหน้าที่สำคัญ ช่วยนำข้อมูล ข้อเท็จจริงด้านพลังงานต่าง ๆ ไปสื่อสารต่อยังประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะนโยบายที่สำคัญที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะ อาทิ การประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ-บงกช แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2018) การบริหารปาล์มน้ำมันผ่าน B7 B20 ตลอดจนโครงการโซลาร์เซลล์บนหลังคา เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความรู้ด้านพลังงาน ช่วยส่งเสริมให้ประชาชน เกิดทัศนคติที่ดีต่อกระทรวงพลังงาน พร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาโครงการต่างๆ ของกระทรวงพลังงาน และให้การสนับสนุนนโยบายต่างๆ ทางด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง
“พลังงานจังหวัดมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสร้างความเข้าใจและทัศนคติที่ดีต่อนโยบาย ด้านพลังงานให้เกิดขึ้นกับภาคประชาชน โดยประเด็นที่พลังงานจังหวัดต้องคำนึงถึงในการปฏิบัติงานคือ การมีข้อมูลพื้นฐานด้านพลังงานในพื้นที่จังหวัด ติดตามนโยบาย/มาตรการของส่วนกลาง การมีส่วนร่วมในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดอย่างสม่ำเสมอ การสร้างเครือข่ายการทำงานในพื้นที่กับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา การบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ การถ่ายทอดความรู้ระหว่างบุคลากร รวมทั้งการมีธรรมาภิบาล และความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน” ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว
ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงพลังงานยังได้กล่าวในการปาฐกถาเกี่ยวกับนโยบายพลังงานสู่การปฏิบัติว่า ทิศทางการดำเนินงานที่สำคัญๆ ในปี 2562 มีดังนี้ ด้านไฟฟ้า หลังจากจัดทำร่างแผน PDP ฉบับใหม่แล้ว ก็มีโครงการศึกษาการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองและส่งขายให้การไฟฟ้า(Prosumer) โครงการศึกษา SPP Power Pool การสร้างโรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทนเครื่องที่ 1-5 การศึกษาความเหมาะสมของโซลาร์ลอยน้ำ การจัดตั้ง One Stop Service การจัดตั้งโรงไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ
ด้านน้ำมัน เห็นชอบและประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ…. การศึกษาการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้สะท้อนและเกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้น โครงการระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และศึกษาแนวทางการส่งเสริมการใช้ B10
ด้านก๊าซธรรมชาติ หลังจากเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ-บงกชสำเร็จในปีที่ผ่านมา ปีนี้ก็มีภารกิจต่อเนื่องในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการนำเข้า LNG โดยปี 2562 จะดูเรื่องการนำเข้า LNG 1.5 ล้านตันเพื่อทดสอบระบบเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานี LNG แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access -TPA)
ด้านพลังงานและอนุรักษ์พลังงาน มีแผนขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System-ESS) รวมถึงมีการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงานสำหรับอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยขนาด 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
นอกจากนี้ ด้านองค์กร จะจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ดี (Code of Conduct) การพัฒนาศูนย์สารสนเทศแห่งชาติ