อันดับที่ 1 PORT ร่วมทุน TICON ตั้ง บ.ย่อย “BLP” ลุยโครงการคลังสินค้า Logistic Park พร้อมปูพรมรายได้ปีนี้โต 10%
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. สหไทย เทอร์มินอล หรือ PORT โดย นางเสาวคุณ ครุจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ลงนามในสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นระหว่างบริษัทฯ กับบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) (TICON) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ในนาม บริษัท บางกอก โลจิสติกส์ พาร์ค จำกัด (BLP) เพื่อดำเนินโครงการคลังสินค้า Logistic Park (ธุรกรรมร่วมทุน Logistic Park) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ลงทุนเป็นเจ้าของ พัฒนา บริหารและจัดการโครงการโลจิสติกส์พาร์ค คลังสินค้า และอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการอุตสาหกรรมในประเทศไทย ทั้งนี้ในการอนุมัติการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมลงทุนในบริษัทร่วมทุนในโครงการท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเชิงพาณิชย์ (Feeder Terminal) (ธุรกรรมร่วมทุน Feeder Terminal) ระหว่าง บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (มิตรผล) และบริษัท Inland Services B.V. (APMT) ซึ่งเป็นบริษัทที่ จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศเนเธอร์แลนด์ และเป็นบริษัทย่อยของบริษัท A.P. Moller – Maersk ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศเดนมาร์ก
อันดับที่ 2 ML ธุรกิจปีหมูหายใจคล่องคอ ดันพอร์ตสินเชื่อรวมทะยาน 5 พันลบ. ลุยพิโกไฟแนนซ์ดันมาร์จิ้นพุ่ง
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ไมด้า ลิสซิ่ง หรือ ML มองธุรกิจปี 2562 เร่งตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยนายนายธีรวัฒน์ เกียรติสมภพ กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า แผนธุรกิจของบริษัทในปีนี้ยังคงเน้นไปที่การขยายสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ เนื่องจากยังเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และยังมีผลตอบแทนสินเชื่อค่อนข้างสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น รวมทั้งในปีนี้บริษัทจะเริ่มเดินหน้าสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งช่วงเริ่มต้นจะเน้นกลุ่มลูกค้าเดิมของบริษัทเป็นหลัก และอาจขยายฐานลูกค้าเพิ่มเติมไปยังกลุ่มพนักงานประจำ และกลุ่มคนงานในนิคมอุตสาหกรรมสำหรับผลประกอบการงวดไตรมาส 4/2561 มีโอกาสกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง จากไตรมาส 3/2561 ที่กำไรชะลอตัว 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งในไตรมาส 4/2561 จะมีปัจจัยหนุนจากการเข้าสู่ไฮซีซั่นของสินเชื่อ รวมทั้งบริษัทจะเน้นขยายสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ หรือ “MIDA AUTO FOR CASH” โดยบริษัทคาดว่าสัดส่วนสินเชื่อดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 40% ในช่วงสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 30%
อันดับที่ 3 KBANK ปิดงวดปี 61 กำไรสุทธิ 3.8 หมื่นลบ. เพิ่มขึ้น 12% จากการตั้งสำรองฯ ลดลง
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK รายงานผลดำเนินงานปี 61 มีกำไรสุทธิ 38,459 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 34,338 ล้านบาท เกิดจากธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง ซึ่งสอดคล้องกับคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 4/61 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 7,033 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนจำนวน 2,711 ล้านบาท หรือ 27.82% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 467 ล้านบาท หรือ 1.86% และมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.41% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 505 ล้านบาท หรือ 3.87% เกิดจากรายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดเงินและตลาดทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง ในขณะที่รายได้สุทธิจากการรับประกันภัยเพิ่มขึ้น
อันดับที่ 4 SEAFCO คว้างานโครงการใหม่เดือน ม.ค. 3 โปรเจ็กต์ มูลค่ารวม 316 ลบ. พร้อมรอผลประมูลงานเพิ่มอีก 2 หมื่นลบ.
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. ซีฟโก้ หรือ SEAFCO ผู้รับก่อสร้างงานเสาเข็มเจาะ งานฐานรากและงานโยธาทั่วไป โดย ดร.ณรงค์ ทัศนนิพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เผยว่า โดยแนวโน้มปี 62 คาดว่ารายได้จะเติบโตต่อเนื่องอีก 10% จากปี 61 ที่มั่นใจรายได้โตกว่า 30% จากปี 60 ที่ทำได้ 1,907 ล้านบาท ตามจำนวนงานที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนแนวโน้มผลดำเนินงานไตรมาส 4/61 เชื่อว่าจะทำจุดสูงสุดกว่าทุกไตรมาส จากการรับรู้รายได้จาก Backlog ที่ส่วนใหญ่จะรับรู้ช่วงสิ้นปี โดยล่าสุดได้รับงานโครงการใหม่ของประจำเดือน ม.ค.62 จำนวน 3 โปรเจ็กต์ มูลค่ารวม 316 ล้านบาท ได้แก่ 1. โครงการ เดอะแสตรนด์ ทองหล่อ ซ.สุขุมวิท 55 กรุงเทพฯ งาน กำแพงกันดินระบบไดอะแฟรมวอลล์ และเสาข็มเจาะแบบกลม 2. โครงการนานา (เสาเข็มทดสอบ) ซ.สุขุมวิท 6 กรุงเทพฯ งาน เสาเข็มเจาะกลม และ 3. โครงการ บางกอก มอลล์ ถ.บางนา-ตราด กรุงเทพฯ (โซน 1, โซน 2 และโซน 3) งาน กำแพงกันดินระบบไดอะแฟรมวอลล์ และเสาเข็มเจาะกลม
อันดับที่ 5 PERM ตั้งเป้ารายได้ปี 62 โต 10% ลุยเดินเครื่องจักรโรงงานใหม่ ปั๊มออเดอร์เหล็ก PU เพิ่ม 30%
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ราคาหุ้น บมจ. เพิ่มสินสตีลเวิคส์ หรือ PERM ดำเนินธุรกิจแปรรูปและจำหน่าย เหล็กรีดร้อนและรีดเย็น ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมายืนเหนือระดับ 2 บาทอีกครั้ง โดยล่าสุด (10.45 น.) อยู่ที่ 2.02 บาท เพิ่มขึ้น 0.03 บาท หรือ 1.51% ขณะที่บริษัทย่อย “บริษัท แอตแลนติกไปป์ จำกัด” มีแผนเพิ่มกำลังผลิตท่อเหล็กขึ้นอีก 20% จากเดิมผลิตได้ราว 5,000 ตันต่อเดือน ในโรงงานใหม่เฟส 2 ที่ขยายเครื่องจักรแบบออโตเมติกเพิ่ม 1 เครื่อง จากปัจจุบันมีระบบแบบแมนนวล 4 เครื่อง ซึ่งช่วยลดต้นทุนด้านการผลิตลงได้ประมาณ 30% ส่วนบริษัทย่อย “บริษัทเอ็มพาวเวอร์สตีล จำกัด” ที่ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจผลิตเหล็กปิ๊กเกอร์ เหล็กขาว เหล็กสังกะสี เหล็กอะลูซิ้งค์ และเหล็กสี อยู่ระหว่างเตรียมใช้งบลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อเริ่มก่อสร้างโรงงานใหม่เร็วๆ