มารู้จัก ทฤษฎี The Six Stages of Business Cycle ของ Martin J.Pring กัน

11733

ปี 2008 หรือ สิบปีก่อนโลกการเงินเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่อเมริกา ธนาคาร เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลาย ก็คล้ายๆตอนต้มยำกุ้งในบ้านเรา ที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ล้ม…………

มาตอนนี้ปี 2018/2019 ก็ได้เวลาครบรอบ 10 ปีพอดี

เพื่อไม่เป็นการประมาท…มารู้จัก ทฤษฎี The Six Stages of Business Cycle ของ Martin J.Pring กันซักหน่อยครับ

Martin J.Pring แบ่งรอบของวัฏจักรระหว่างตลาดทุน ตลาดพันธบัตร และสินค้า commodity ก็พวกน้ำมัน ทอง ไว้ดังนี้

Stage 1 เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงสุด เป็นเวลาที่ควรถือพันธบัตร

อย่างที่ทราบกันดีครับว่าอัตราดอกเบี้ยมักแปรผกผันกับราคาพันธบัตร (Bond) โดยที่หากอัตราดอกเบี้ยขึ้น ราคาBond จะลดลง

การตัดสินใจว่าจะปรับขึ้นหรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยของไทยมักจะเชื่อมโยงกับของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือที่เรารู้จักกันดีในนามของ Fed

ซึ่งการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยของ Fed ก็จะขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจ เช่น อัตราเงินเฟ้อ, อัตราการว่างงาน และ GDP เป็นต้น

หากเศรษฐกิจเริ่มร้อนแรงเกินไป Fed ก็จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ถ้าหากเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวมากเกินไป Fed ก็จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน

สรุปคือ หากภาวะเศรษฐกิจเริ่มชะงัก การเติบโตของเศรษฐกิจเริ่มลดลง ลดกำลังการผลิต การว่างงานสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง นั่นแหละครับคือสัญญาณว่าอยู่ใน Stage นี้ และเป็นเวลาที่ควรลงทุนในพันธบัตรเป็นหลักครับ

Stage 2 เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำสุดๆ เป็นจังหวะในการเลือกเข้าเก็บหุ้น แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตลาดถึงจุดต่ำสุดแล้ว?

โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นหลังจากเกิด Crisis ต่างๆ เช่น Hamburger Crisis หรือ วิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งเราไม่สามารถรอให้ข่าวออกว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้วค่อยซื้อหุ้นได้ เนื่องจากตลาดหุ้นมักจะวิ่งนำสภาวะเศรษฐกิจอยู่เสมอ เนื่องจากตลาดหุ้นมักเล่นกับอนาคตตลอดเวลา
สรุป หากเราไม่เห็นข่าวร้ายใหม่ๆตาม Social Network แล้ว หรือเราไม่สามารถมองหาข่าวร้ายใหม่ๆได้แล้ว อัตราดอกเบี้ยกำลังปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ราคา Bond ยังคงปรับตัวสูงขึ้น นั่นคือเวลาที่ดีในการเข้าซื้อหุ้นครับ ซึ่งเราจะได้หุ้นในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง เนื่องจากความกลัว และความกังวลจากข่าวต่างๆยังคงมีอยู่เต็มตลาด

Stage 3 ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ราคา Commodity ปรับตัวสูงขึ้น

โดยปกติแล้วราคา Commodity จะปรับตัวลดลงจนกว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน เนื่องจากสินค้า Commodity ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยในการผลิต เช่น เหล็ก น้ำมัน สังกะสี เป็นต้น ดังนั้นหากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวความต้องการสินค้ากลุ่มนี้จะมากขึ้น และราคาจะปรับตัวสูงขึ้นตามลำดับ ใน Stage นี้ราคาสินค้า Commodity จึงเป็นจุดต่ำสุด

สรุป หากเราเห็นว่าเศรษฐกิจกำลังขยายตัว เป็นเวลาที่เราควรเริ่มสะสมสินค้ากลุ่มนี้ หรือหุ้นในกลุ่ม เหล็ก หรือ เดินเรือ เป็นต้น แต่!! มีข้อยกเว้นในบางกรณี อย่างเช่น ราคาน้ำมันดิบในปัจจุบัน การเกิดของ Shale oil ที่ต้นทุนในการขุดเจาะเริ่มลดลงเรื่อยๆ หรือการทดแทนการใช้น้ำมันรถยนต์ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า(ซึ่งการบริโภคน้ำมันส่วนใหญ่มาจากรถยนต์) ก็อาจจะทำให้ราคาน้ำมันไม่ปรับตัวสูงขึ้นตามที่คาดไว้นัก

Stage 4 อัตราดอกเบี้ยถึงจุดต่ำสุด และราคาพันธบัตรได้ทำจุดสูงสุดแล้วเช่นกัน

ใน Stage นี้ ราคาของ Bond, หุ้น และ Commodity ยังอยู่ในเทรนขาขึ้นอยู่ แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา การปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำนานจนเกินไปอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก ถ้าเพื่อนได้ติดตามการให้ความเห็นของประธาน Fed สาขาต่างๆจะเห็นว่า หลายท่านออกมาเตือนว่าการตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นเวลานานเกินไป จะก่อให้เกิดความเสี่ยงได้ เนื่องจาก เมื่อเงินเฟ้อสูงกว่าอัตราดอกเบี้ย จะทำให้เกิดสภาวะ “อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ (อัตราดอกเบี้ย-เงินเฟ้อ)” ซึ่งจะส่งผลให้คนไม่อยากฝากเงินแล้วเอาเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ บริษัทต่างๆและผู้บริโภคกล้าที่จะกู้เงินมากขึ้น และส่งผลให้มีโอกาสเกิดฟองสบู่ในสินทรัพย์ที่คนเอาเงินไปลงทุนสูงขึ้น ดังนั้นใน Stage นี้ คือ Fed จะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงในเศรษฐกิจลงบ้าง

สรุป ใน Stage นี้ เป็นเวลาของการขาย Bond ดอกเบี้ยจะเริ่มเป็นขาขึ้น เพื่อลดความร้อนแรงในระบบเศรษฐกิจลงบ้าง ส่งผลให้ราคา Bond ปรับตัวลดลง (ดอกเบี้ยขึ้น = Bond ลง) แต่ราคาหุ้น และ Commodity ยังคงเป็นขาขึ้น เนื่องจากผลประกอบการหลายๆบริษัทยังคงดีขึ้นอยู่ (แต่ต้องระวังหุ้นที่มีความผันผวนต่ออัตราดอกเบี้ยสูง เช่น หุ้นปันผล หรือหุ้นในกลุ่มอสังหา เป็นต้น)

Stage 5 ราคาหุ้นทำจุดสูงสุด

ใน Stage นี้ อัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจเริ่มเติบโตช้าลง การจ้างงานเต็มที่ แรงงานเริ่มสามารถเลือกงาน และต้องการเงินเดือนสูงขึ้น เนื่องจากบริษัทมีความต้องการแรงงานมาก แต่แรงงานว่างงานมีน้อย ประกอบกับผู้บริโภคไม่ได้จับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นเท่าเดิม เนื่องจากเริ่มนำเงินไปออมมากขึ้น ส่งผลให้กำไรของบริษัทเริ่มลดลง เป็น Stage ที่ “ต้อง” เลือกถือหุ้นเพียงแค่บางประเภทเท่านั้น เช่น หุ้นกลุ่ม Commodity เป็นต้น
สรุป เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตที่ไม่สูงนัก ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่เริ่มเติบโตช้าลง ราคา Bond ยังคงปรับตัวลง และ เป็นจังหวะในการขายหุ้นออกไป แต่ราคา Commodity ยังคงขึ้นอย่างต่อเนื่องครับ

Stage 6 ภาวะเศรษฐกิจกดดันราคา Commodity

Stage นี้จะเกิดทุกอย่างตรงกันข้ามกับ Stage 3 ซึ่งหากเพื่อนๆเข้าใจทุก Stage ที่ผ่านมาจะทราบว่า ราคา Commodity จะเริ่มปรับตัวลดลงใน Stage นี้ เนื่องจากบริษัทลดกำลังการผลิตลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ต้นทุนในการลงทุนสูง (อัตราดอกเบี้ยสูง) ความต้องการในการบริโภคของประชาชนต่ำเนื่องจากเอาเงินไปออมมากขึ้น (เพราะดอกเบี้ยสูง) ส่งผลให้ความต้องการสินค้า Commodity ลดลง ใน Stage นี้แนะนำให้ถือเงินสดเป็นหลักครับ

มาถึงบทสรุปสำคัญ กับคำถามที่ว่าแล้วตอนนี้เราตอนนี้เราอยู่ใน Stage ไหนกัน มาไล่สเตปสิ่งที่ควรจะเกิดให้ได้เห็นในตลาด ณ ปัจจุบัน

1) Fed ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้วตามแผนและยังคงแนวทางในการปรับขึ้นต่อไป
2) ดัชนี Dow Jones ทำ All-Time-High
3) ราคาอสังหาต่างๆค่อนข้างแพง
4) ราคาสินค้า Commodity ต่างๆเริ่มปรับตัวสูงขึ้นหลังจากราคาต่ำมานาน เช่น น้ำมัน ถ่านหิน, ค่าระวางเรือ(BDI), ราคาเหล็ก และ ราคายาง เป็นต้น

เราน่าจะอยู่ใน Stage ของกรอบรอยต่อ 4-5-6

ซึ่งเราคงต้องระมัดระวังมากขึ้นครับ เนื่องจาก Stage 6 ที่รอเราอยู่มันคือวิกฤต หรือการ SET-ZERO ไปตั้งต้นใหม่ ตามวัฏจักรนั่นเอง

Cr:ภาพ www.Pring.com

และผมได้เรียนรู้เรื่องนี้มาจาก อาจารย์นิพนธ์ในคลาส CSI ครับ กราบขอบพระคุณอาจารย์ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

โดยม้าเฉียว ดูหุ้น The Future

     25/02/19