BCPG ผลิตไฟฟ้าพีค หนุนผลงานไตรมาส 1/62 ออกมาดี ซุ่มดีลโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม สปป.ลาว ไต้หวันกว่า 1,000 เมกะวัตต์

383

มิติหุ้น – BCPG ผลิตไฟฟ้าพีค หนุนผลงานไตรมาส 1/62 ออกมาดี ซุ่มดีลโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม สปป.ลาว ไต้หวันกว่า 1,000 เมกะวัตต์ เล็งประมูลโซลาร์ฟาร์มมาเลเซีย มั่นใจปีนี้ปิดดีลพลังงานลมเพิ่ม 100 เมกะวัตต์

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.บีซีพีจี หรือ BCPG ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยนางภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เผยว่า ผลประกอบการไตรมาส1/62 มีแนวโน้มเติบโตได้เป็นอย่างดี เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม และโซลาร์ฟาร์ม ในช่วงไตรมาส 1 นี้ มีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าที่ดี

ส่วนภาพรวมทั้งปี 62 มั่นใจว่าผลประกอบการจะเติบโตดีกว่าปี 61 ที่มีรายได้ 4,433 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,219 ล้านบาท เนื่องจาก เติบโตตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยในปีนี้เตรียมจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการพลังงานลมลิกอร์ที่ จ.นครศรีธรรมราช กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ ในไตรมาส 2/62 และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นที่หลังคา โซลาร์รูฟท็อป กำลังการผลิตรวม  12 เมกะวัตต์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะ COD ปลายปี 62 รวมถึง COD โซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น 30 เมกะวัตต์ ส่งผลให้กำลังการผลิตที่ COD รวมในปีนี้เป็น 433 เมกะวัตต์

ด้านแหล่งข่าวจาก BCPG  กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าพลังลมเพิ่มขึ้นอีก 1,000 เมกะวัตต์ใน 5 ปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในต่างประเทศทั้งในเวียดนาม สปป.ลาว และไต้หวัน เนื่องจากในไทยมีพื้นที่เหมาะในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังลมได้ดีค่อนข้างจำกัด โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 61-80 (PDP2018) จะมีโรงไฟฟ้าพลังลม 1,485เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทก็สนใจลงทุนด้วย ขณะเดียวกัน ได้ศึกษาลงทุนพลังงานน้ำในประเทศ สปป.ลาวประมาณ 40-50 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทวางเป้าหมายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังลมไว้ราว 100 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นการลงทุนในประเทศแถบอาเซียน รูปแบบการลงทุนได้พิจารณาทั้งการลงทุนตั้งแต่เริ่มต้น (Greenfield) และเข้าไปควบรวมหรือซื้อกิจการเพื่อให้บริษัทรับรู้รายได้เร็วขึ้น จากปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าพลังลมรวม 60เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทยังแสวงหาโอกาสการลงทุนพลังงนหมุนเวียนในประเทศอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย โดยเฉพาะมาเลเซียที่มีแผนเปิดประมูลโซลาร์ฟาร์ม 500 เมกะวัตต์